เมื่อ Ant จะถูกกำกับไม่ต่างจากธนาคาร

เมื่อ Ant จะถูกกำกับไม่ต่างจากธนาคาร

ผู้เขียนเคยเล่าถึงบทเรียนของ Ant จากการที่กำลังจะประกาศขาย IPO ที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่ถูกทางการจีนสั่งระงับก่อนประกาศขาย 48 ชม.

           ทางการจีนได้สั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวโดยอ้างว่าการประกอบธุรกิจของ Ant ไม่เป็นไปตามกฎหมายผูกขาดทางการค้า และเป็นการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน  ดังนั้น ทางการจีนจึงยื่นข้อเสนอให้ Ant ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้อยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลในลักษณะที่ไม่ต่างจากการกำกับธนาคารพาณิชย์
               และนี่จึงเป็นที่มาของการจัดทำ
 Restructuring plan ครั้งใหญ่ของ Ant เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ที่ทางการกำหนดขึ้น   

               กฎใหม่เพื่อกำกับ Ant             

               รัฐบาลจีนได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์หลายประการเพื่อกำกับดูแลการทำธุรกิจของ Ant ผู้เขียนจึงขอหยิบยกบางประเด็นที่น่าสนใจ มาเล่าให้ฟังโดยสรุป ดังนี้

              1กำหนดให้ Ant จัดตั้ง “Financial Holding Company” หรือ บริษัทโฮลดิ้งทางการเงิน (ที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อควบคุมกิจการทางการเงินของกลุ่มธุรกิจในเครือ) โดยให้ธุรกิจในเครือทั้งหมดอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Ant โฮลดิ้ง  ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ เป็นผลมาจากการปรับปรุงกฎหมายในเรื่อง Financial-holding company ของจีนในเดือน ก.ย. 63 ที่มีวัตถุประสงค์ให้ ภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่มีการ “ประกอบธุรกิจหลายประเภทรวมกัน” และมีลักษณะของการประกอบธุรกิจทางการเงินข้ามเซกเตอร์มากกว่าสองประเภท (เช่น ทำธุรกิจทางการเงิน และทำธุรกิจประกัน หรือบริหารการลงทุนด้วย) ต้องปรับโครงสร้างบริษัทใหม่ให้อยู่ในรูปแบบโฮลดิ้ง  และกลุ่มธุรกิจเดิมในเครือทั้งหมดที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเงินต้อง 1) อยู่ภายใต้โครงสร้างของบริษัท
โฮลดิ้งดังกล่าว
 

            2ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจทางการเงินประเภทนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อช่วยให้ทางการจีนสามารถตรวจสอบการประกอบธุรกิจในเครือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการสะท้อนหลักการกำกับดูแลแบบทั้งกลุ่มธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Consolidated Supervision

               ข้อกำหนดดังกล่าว ส่งผลให้ Ant และ แพตฟอร์มขนาดใหญ่ในจีนหลายแห่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เช่น ในกรณีของ Ant มีประเภทธุรกิจที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจชำระเงิน (Alipay) ธุรกิจบริหารจัดการหลักทรัพย์ (Yu’e Bao) ธุรกิจสินเชื่อ (Huabei) ธุรกิจประกันภัย (Xiang Hu Bao) และ
ธุรกิจธนาคารออนไลน์ (
MyBank) ซึ่งชัดเจนว่ามีลักษณะของการ “cross-sector” ตามเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ ซึ่งหากเดิมทีธุรกิจทางการเงินประเภทใดที่กล่าวมาในข้างต้นยังไม่เคยได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจากทางการก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ เพราะการประกอบธุรกิจภายใต้ “บริษัทโฮลดิ้งทางการเงินนั้นต้องได้ license เสมอ


               2) กำหนดให้ Ant ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารกลางจีน : อีกหนึ่งข้อกำหนดที่สำคัญของทางการจีน คือ การให้ Ant อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางจีน (PBOC) ในฐานะที่เป็น บริษัทโฮลดิ้งทางการเงิน” ประเภทหนึ่ง ที่ธนาคารกลางจีนจะเข้าไปกำกับดูแลตั้งแต่การกำหนดโครงสร้างผู้ถือหุ้นการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของกรรมการและผู้บริหารการกำหนดการบริหารความเสี่ยงการกำหนดให้มีเงินทุนที่เพียงพอ ซึ่งรวมไปถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการในการดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์  ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะปรากฎอยู่ใน Restructuring plan ของ Ant ที่จะใช้ยื่นต่อทางการจีนในอนาคตอันใกล้
               ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า เกณฑ์ใหม่ที่ทางการจีนจะใช้กับ Ant นั้น ไม่ต่างไปจากเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางจีน นอกจากนี้ การให้ธุรกิจในเครือ Ant ทั้งหมดอยู่ภายใต้โครงสร้างโฮลดิ้ง นอกจากจะช่วยให้ทางการจีนสามารถตรวจสอบกิจกรรมของ Ant ได้ง่ายขึ้นแล้ว  ยังเป็นการลดการใช้ช่องวางทางกฎหมายหรือการแสวงหาผลประโยชน์จากการกำกับดูแลที่แตกต่างในอดีต (Regulatory Arbitrage) ระหว่างธุรกิจทางการเงินของ Ant และธนาคารพาณิชย์  ซึ่งในทางกลับกันสำหรับ Ant เกณฑ์ใหม่นี้ ย่อมสร้างอุปสรรคหลายประการ เช่น การสับเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอ (Shuffle Portfolio) ในกลุ่มธุรกิจของตน ซึ่งครั้งหนึ่งการ shuffle portfolio อาจสามารถทำได้ไม่ยากนัก โดยการถ่ายโอนความเสี่ยงของธุรกิจหนึ่งไปยังอีกธุรกิจที่มีการกำกับดูแลจากทางการที่น้อยกว่า

               3 ) กำหนดให้ Ant ยกระดับการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า    
              อีกประเด็นที่ทางการจีนได้ขอให้ Ant ปรับปรุง คือ การให้ความคุ้มครองข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้สำหรับธุรกิจสินเชื่อ โดยทางการจีนมองว่าข้อมูลของลูกค้าถูกนำไปใช้กับทุกธุรกิจในเครือ และมีลักษณะการเก็บข้อมูลที่มีความหลากหลายและลงลึกในเชิงพฤติกรรมมากจนเกินควร ซึ่งแน่นอนว่าอาจมากกว่าที่ธนาคารพาณิชย์ใช้เพื่อวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้า  ดังนั้น จึงกำหนดให้ Ant  ต้องมีการจัดทำบัญชีเพื่ออธิบายการใช้และแยกแยะข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการส่งต่อในเครือให้ชัดเจน เพื่อวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบในอนาคตและเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้ ที่ทางการจีนเข้มงวดเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นเป็นผลมากจากร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy Law) ที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งในอนาคตจะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กล่าวถึงการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในจีน
             อย่างไรก็ดี ในเชิงธุรกิจ ข้อมูลของผู้บริโภคในการใช้บริการทางการเงินบนแอพต่างๆ ของ Ant ถือเป็น “ทรัพยากรอันมีค่าที่สร้างจุดแข็งให้กับ Ant มาโดยตลอด จนสามารถนำข้อมูลทั้งหมดที่เก็บได้ไปสร้างเป็นธุรกิจ Credit rating service ในนาม Sesame Credit ซึ่งเป็นแอพที่ใช้คำนวณ Credit Scoring ให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ให้กับ Huabei ผู้ให้บริการเงินกู้ผ่าน Alipay ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการกำหนดเรื่องการยกระดับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ย่อมส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการข้อมูลของ Ant ที่เคยมีในอดีตให้รัดกุมยิ่งขึ้น 

             ท้ายที่สุด คงไม่มีใครคิดว่า Ant จะพบกับอุปสรรคในทางกฎหมายอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อ เราคงได้เห็น Ant ในแบบที่เปลี่ยนไป ในอนาคตอันใกล้. 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน