จับจริงติดคุกจริง

จับจริงติดคุกจริง

อาชญากรหัวใส นำข้อมูลที่ขโมยไปสร้างเป็นธุรกิจ

อย่างที่เราทราบกันดีครับว่า การขโมยข้อมูลถือเป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Computer Crime) เพราะเป็นการกระทำที่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีคดีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อน คดีนี้น่าสนใจทีเดียวครับ เพราะอาชญากรเป็นนักวิจัยในองค์กรเสียเอง ไม่ใช่บุคคลภายนอกหรือแฮกเกอร์แต่อย่างใด แถมอาชญากรคนนี้ยังหัวใส นำข้อมูลที่ขโมยไปสร้างออกมาเป็นธุรกิจเสียด้วยครับ

นักวิจัยคนนี้เธอเริ่มทำงานในห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ที่สถาบันวิจัยตั้งแต่ปี 2007 ถึง 2017 ในขณะที่สามีวัย 50 ปี และผู้สมรู้ร่วมคิดของเธอทำงานในห้องปฏิบัติการที่แยกต่างหากที่สถาบันวิจัยตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2018

สามีภรรยาคู่นี้สมคบคิดกันที่จะขโมยข้อมูลเพื่อสร้างรายได้จากการวิจัย Exosomes ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวิจัยการระบุตัวตน และการรักษาทางการแพทย์ที่หลากหลาย รวมถึงการรักษามะเร็งตับและการติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งเป็นภาวะที่พบในทารกคลอดก่อนกำหนด

เมื่อถูกจับได้ศาลแขวงสหรัฐ (United States District Court) จึงตัดสินจำคุกเธอเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ข้อหาร่วมมือกับสามีของเธอขโมยงานวิจัยลับจากโรงพยาบาลเด็กในรัฐโอไฮโอ และขายข้อมูลที่ขโมยไปให้กับประเทศจีน ในเอกสารของศาลระบุว่าหลังจากขโมยความลับทางการค้าแล้ว เธอก็สร้างรายได้จากการสร้างและขาย “Isolation Kits” โดยเธอเปิดบริษัทในประเทศจีนเพื่อขายชุดอุปกรณ์ จนได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลจีน รวมถึงศูนย์ข้อมูลและการวิจัยแห่งสำนักงานบริหารจัดการผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ (the State Administration of Foreign Experts Affairs) และมูลนิธิวิจัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The National Natural Science Foundation of China, NSFC) 

นอกจากนี้ เธอยังมีส่วนร่วมกับแผนการพิเศษของรัฐบาลจีนหลายแผน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่าเป็นกลยุทธ์ที่จีนใช้ในการถ่ายทอดการวิจัยและเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้กับรัฐบาลจีน นอกเหนือจากการรับโทษจำคุกแล้วเธอยังต้องจ่ายเงินคืนประมาณ 2.6 ล้านดอลลาร์ และถูกริบเงินประมาณ 1.25 ล้านดอลลาร์ รวมไปถึงหุ้นจำนวนมหาศาลอีกด้วย 

โดยผู้เชี่ยวชาญจาก FBI กล่าวว่าบทลงโทษนี้ควรใช้เพื่อยับยั้งบุคคลอื่นที่กระทำการในลักษณะเดียวกัน ซึ่ง FBI จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร เพื่อให้แน่ใจว่าสหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คดีนี้ท่านจะเห็นได้ว่าประเทศอื่นๆนั้นจริงจังกับการใช้กฎหมายเป็นอย่างมาก ดังนั้นประเทศไทยของเราเองก็ต้องเอาจริงเอาจังกับกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโลกไซเบอร์ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA), พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ เพราะในอนาคตนอกจากจะต้องป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์จากบุคคลภายนอกองค์กรแล้วก็ต้องป้องกันภัยคุกคามจากบุคคลภายในองค์กรที่เรียกว่า Insider Threat ด้วย

ซึ่งการป้องกัน Insider Threat ให้ได้ดีที่สุดนอกจากจะต้องพึ่งพามาตรการกับนโยบายภายในองค์กรที่รัดกุมแล้ว ยังต้องอาศัยโซลูชันด้านการยืนยันตัวตนและกำหนดสิทธิ์เข้ามาช่วยอีกด้วย สุดท้ายแล้วก็ต้องหวังพึ่งกฎหมายที่ต้องเข้มงวดและบังคับใช้จริง เพื่อให้บทลงโทษช่วยทำให้อาชญากรหวั่นเกรงได้บ้างครับ