ได้เวลายกเครื่องโครงสร้าง'ภาษียาสูบ'
ผมได้มีหนังสือเสนอความคิดเห็นทางวิชาการ ต่อกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต ในเรื่อง การปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ต้องคำนึงถึงหลักสากลของ WHO
*บทความโดย รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้ทราบข่าวที่อธิบดีกรมสรรพสามิตแถลงว่าอยู่ระหว่างเตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งต่อเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบ ต่อรายได้รัฐ และต่ออุตสาหกรรมยาสูบและชาวไร่ยาสูบ ผมในฐานะนักวิชาการที่ติดตามนโยบายสาธารณะ นโยบายการคลัง และเคยศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษียาสูบ ได้มีหนังสือเสนอความคิดเห็นทางวิชาการต่อกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงขอสรุปความคิดเห็นดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง
การปรับโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างภาษีที่ดีตามหลักสากลที่องค์การอนามัยโลกและธนาคารโลกมีขอเสนอแนะไว้ 4 ข้อ คือ
- ควรใช้ภาษีอัตราเดียวสำหรับสินค้าประเภทเดียวกัน
- ให้ความสำคัญกับการเก็บภาษีตามปริมาณมากกว่าตามมูลค่า
- เก็บภาษีสินค้าทดแทนที่มีอันตรายเหมือนกันในอัตราเท่าเทียมกัน และ
- ทยอยปรับขึ้นภาษียาสูบอย่างสม่ำเสมอ แต่โครงสร้างภาษียาสูบในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับหลักการนี้ จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งรายได้รัฐและอุตสาหกรรมยาสูบ ในขณะที่คนสูบไม่ได้ลดลงเท่าไหร่
ความท้าทายของระบบภาษียาสูบในปัจจุบันมาจากการกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่า 2 ระดับ สำหรับบุหรี่ที่มีราคาถูกกว่า 60 บาท ที่ร้อยละ 20 และราคาแพงกว่า 60 บาท ที่ร้อยละ 40 ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการต่างกำหนดราคาบุหรี่ไม่ให้เกิน 60 บาท เพื่อไม่ให้เสียภาษีในอัตราที่สูง ส่งผลให้การยาสูบแห่งประเทศไทยแข่งขันไม่ได้ กลายเป็นผลกระทบต่อโควตารับซื้อใบยาของชาวไร่ยาสูบตามมา นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่สินค้าทดแทนบุหรี่ ได้แก่ ยาเส้น ยังเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าบุหรี่มาก การขึ้นภาษีบุหรี่ในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคหลายเท่าตัวในช่วงปี 2560 และที่ได้กำหนดไว้ในเดือนตุลาคม 2564 จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการเปลี่ยนไปสูบยาเส้นเพื่อทดแทนการสูบบุหรี่ยื่งขึ้นตามมา
ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษียาสูบจึงควรพิจารณาดำเนินการใน 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
1) กำหนดโครงสร้างภาษีมูลค่าแบบบุหรี่อัตราเดียวแทนการใช้อัตราภาษีมูลค่า 2 อัตรา โดยอัตราภาษีมูลค่าอัตาเดียวที่น่าจะเหมาะสมคือ อัตราร้อยละ 23 เพราะจะทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบเพิ่มขึ้น และราคาบุหรี่ปรับเพิ่มขึ้น 3-4 บาท ไม่มากจนเกินไป สอดคล้องกับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งจะช่วยเพิ่มความหลากหลายด้านราคาของบุหรี่ ลดการกระกระจุกตัวที่บุหรี่ราคา 60 บาทต่อซอง และส่งผลดีต่อการขายใบยาสูบของชาวไร่ยาสูบที่ขายให้กับการยาสูบฯ
2) เพิ่มสัดส่วนภาษีปริมาณ โดยการขึ้นภาษีบุหรี่ในระยะต่อไปหลังจากที่รวมอัตราภาษีมูลค่าเป็นอัตราเดียวแล้ว กรมสรรพสามิตควรพิจารณาขึ้นอัตราภาษีปริมาณเป็นหลัก เพื่อเพิ่มสัดส่วนของภาษีปริมาณต่อภาระภาษีทั้งหมด เนื่องจากง่ายต่อการจัดเก็บภาษีและมีประสิทธิภาพในการควบคุมการบริโภคมากกว่าภาษีมูลค่า
3) กำหนดแผนการปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้นควบคู่ไปกับการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ โดยอัตราภาษียาเส้นควรอยู่ในระดับที่เท่ากันกับอัตราภาษีบุหรี่ เพื่อส่งผลให้สามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มรายได้รัฐตามมาด้วย
ผมสนับสนุนการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ เมื่ออัตราภาษีมูลค่า 2 อัตรา ใช้มา 3 ปีแล้ว ไม่ได้ผลตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็ถึงเวลามาตั้งต้นใหม่ โดยหาจุดสมดุลระหว่างนโยบายด้านสุขภาพและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบ สิ่งสำคัญคือ การปรับโครงสร้างต้องอิงหลักสากลหรือดูตัวอย่างประเทศที่มีระบบภาษียาสูบที่ดีแล้วเอามาประยุกต์ใช้บริบททางเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้เหมาะสม กระทรวงการคลังควรกำหนดแผนการปรับขึ้นภาษีบุหรี่และยาเส้นระยะยาวให้เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้มีการปรับขึ้นภาษียาสูบได้อย่างสม่ำเสมอและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยาสูบ รวมทั้งช่วยให้เกษตกรมีเวลาในการปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย.