พุทธศรัทธาและพุทธพาณิชย์ในสื่อ หนังสือพิมพ์ และโซเชียลมีเดีย
ในโลกที่ถูกดิสรัปท์ด้วยเทคโนโลยีทำให้เศรษฐกิจผันผวน ความไม่แน่นอนสูง วัดก็ยังเป็นที่พึ่งของคนไทย แต่รูปแบบการพึ่งพาก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
*ผู้เขียน อรุณี อินทรไพโรจน์ นักวิจัยแผนงานคนไทย 4.0
งานวิจัยนี้จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพุทธพาณิชย์และพุทธศรัทธาทั้งหมด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะข้อมูลส่วนที่เป็นสาธารณะ (Public) ตามคำสำคัญที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลในรอบระยะเวลา 10 ปี จาก 2 แหล่งได้แก่ หนังสือพิมพ์ จำนวน 52,697 รายการ และสื่อโซเชียลมีเดีย 2 แหล่งหลัก หลังจากตัดข้อมูลซ้ำและข้อมูลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกเพื่อขจัดความคลาดเคลื่อนในการวิเคราะห์เหลือข้อมูลรวมทั้งหมด 15,620 รายการ (ร้อยละ 12.82 จากจำนวนข้อมูลทั้งหมด) เป็นข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ 13,360 รายการ จาก Facebook 115 รายการ จาก Pantip 2,145 รายการ
ผลการวิเคราะห์พุทธพาณิชย์และพุทธศรัทธาจากสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อหนังสือพิมพ์พบว่า มีประเด็นที่เหมือนและแตกต่างกันซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
ประเภทของพุทธพาณิชย์หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความศรัทธามีหลายประเภท (ภาพที่ 1) พุทธพาณิชย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การให้เช่าบูชาพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง วัตถุมงคล มีความหลากหลายและได้รับความนิยมแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา (ภาพที่ 2) รองลงมาเป็นการให้บริการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การบวช การสวดมนต์ข้ามปี การทำกิจกรรมหรือพิธีกรรมที่เป็นการบริการตนเองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธี เช่น การไหว้พระ การแก้บน การปิดทอง ลอยเทียนสีประจำวันเกิด การบูชารูปเคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเชิญชวนให้ทำบุญ บริจาค เครื่องเสี่ยงทาย การทำบุญสร้างวัตถุมงคล สร้างและบูรณะศาสนาสถาน การจัดงานเทศกาล งานวัด และในระยะหลังนิยมพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและจัดกิจกรรมทัวร์ธรรมะ
ข้อมูลทั้งสองแหล่งระบุว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดพุทธพาณิชย์และพุทธศรัทธาส่วนใหญ่เป็นปัจจัยด้านเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักด้านการหารายได้ ทั้งจากทางวัดเอง ผู้ศรัทธาและผู้ประกอบการ รองลงมาเป็นปัจจัยด้านสังคม พุทธพาณิชย์มีส่วนในการสร้างความหวัง ความสุข ให้กับผู้ที่มีความศรัทธาในศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปแก้บน ขอหวย ขอเครื่องราง ปลุกเสก ส่วนปัจจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแสะการสื่อสารมีส่วนสนับสนุนให้วัดสามารถใช้สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สินค้าและกิจกรรมต่างๆ จัดหาอุปกรณ์การรับบริจาคในรูปแบบทันสมัย เช่น ตู้บริจาค พรมน้ำมนต์อัตโนมัติ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ศรัทธา เช่น การทำบุญออนไลน์ สวดมนต์ข้ามปีออนไลน์
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพุทธพาณิชย์และพุทธศรัทธา จากข้อมูลโซเชียลมีเดียจะเห็นชื่อตัวบุคคล เช่น ธัมมชโย พุทธอิสระ เจ้าคุณธงชัย ส่วนข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เน้นที่ตัวองค์กร หน่วยงานที่เป็นผู้สร้างหรือจัดกิจกรรมทางศาสนา ได้แก่ ตัววัด ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง รองลงมาคือ เซียนพระ คอลัมน์พระในหนังสือพิมพ์ การประกวดพระ ชมรมพระเครื่อง และตลาดพระเครื่อง
ทัศนคติเชิงลบที่มีต่อวัด พระสงฆ์ และศาสนา ข้อมูลโดยรวมพบว่า มีผู้รู้สึกไม่ศรัทธาต่อศาสนาหรือการเสื่อมศรัทธาในศาสนา ข้อมูลจากสื่อโซเชียลมีเดียระบุถึง การซื้อบุญ การทำบุญมากเกินไป วัด พระสงฆ์ และศาสนาสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ขณะที่ข้อมูลจากสื่อหนังสือพิมพ์ พบว่า ประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปศาสนาและปฏิรูปสงฆ์ (ทั้งนี้ ยังไม่รวมข่าวพระที่เป็นคดี เพราะคดียังไม่สิ้นสุด) อย่างไรก็ตาม เมื่อนำทัศนคติทั้งเชิงบวกและลบมาวิเคราะห์ร่วมกันพบว่าข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติเชิงบวกมีความถี่สูงกว่าเชิงลบมาก
แม้จะมีผู้เสื่อมศรัทธาต่อวงการสงฆ์ไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่คนทั่วไปก็ยังคงมีทัศนคติเชิงบวกมากกว่าลบต่อวัด พระสงฆ์ และศาสนา ยังเน้นการเข้าวัดเพื่อทำบุญ การประกอบกิจกรรมทางศาสนา เช่น การตักบาตร การบวช การปฏิบัติธรรม สินค้าความเชื่อยังเป็นที่นิยม เพราะผู้คนยังมีความศรัทธา ความเชื่อ ความสุข ความหวังที่จะได้รับจากการปฏิบัติหรือการเช่าบูชา ศาสนาพุทธยังเป็นที่พึ่งของคนไทยส่วนใหญ่ค่ะ
วันมาฆบูชานี้ใครจะไปร่วมกิจกรรมสวดมนต์และเวียนเทียนที่วัดก็อย่าลืมสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างนะคะ จะได้อิ่มบุญแบบปลอดภัยกันโดยถ้วนหน้าค่ะ.