อุตสาหกรรมอาหารที่กำลังจะเปลี่ยนไป
ทุกวันนี้มีบริษัทเริ่มวางขายผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Lab-Grown Meats เนื้อสัตว์ที่ถูกปลูกขึ้นในแล็บ และในปี 2025 ราคาจะถูกลงอีกมาก จึงน่าจับตามอ
เมื่อประมาณช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง แล้วต้องตกใจเมื่อได้พบกับตู้เย็นขายเนื้อที่ตัวเนื้อนั้นไม่ได้ทำมาจากเนื้อสัตว์แต่ทำมาจากพืชอย่าง ถั่วเหลือง ที่มีชื่อว่า Beyond Meat เนื้อเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้สำหรับคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์สามารถบริโภคได้ มีหลากหลายประเภทและหลากหลายขนาด ทำให้สามารถบริโภคและทานได้ ซึ่งตัวของบริษัท Beyond Meat เองก็ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้น NASDAQ ที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ทุกวันนี้ร้านกาแฟชื่อดังอย่างสตาร์บัคส์ก็ได้นำเอาเนื้อของ Beyond Meat มาใส่ในแฮมเบอร์เกอร์ของตัวเองอีกด้วย ซึ่งเราคนไทยเอง ก็สามารถที่จะไปบริโภคในสตาร์บัคส์ สาขาบ้านเราได้อีกด้วย
เมื่อผมได้ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมจึงพบเรื่องที่น่าสนใจหลายๆเรื่องเช่น ทุกวันนี้เริ่มมีการเอาสีผสมอาหารที่ใช้ในอาหารทำมาจากแมลงมากขึ้น เพราะว่ามันปลอดภัยกว่าการใช้สีผสมอาหารแบบทั่วไป เนื่องจากสีผสมอาหารเหล่านั้น ทำมาจากสารเคมีต่างๆที่ถูกสกัดมาจากถ่านหิน หรือ น้ำมันปิโตรเลียม สองเริ่มมีขนมปังที่ทำมาจากแมลงสาบออกวางขายสู่ตลาดแล้ว ขนมปังเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์สองคนที่ประเทศบราซิล ซึ่งขนมปังเหล่านี้มีโปรตีนมากกว่าขนมปังทั่วไปที่ทำมาจากข้าวสาลีถึง 40% เลยทีเดียว ซึ่งสองเรื่องนี้ที่ผมได้กล่าวถึงอาจจะฟังดูน่าขยะแขยงสักหน่อย แต่เรื่องถัดไปอาจจะฟังดูน่าสนใจมากขึ้น
ทุกวันนี้มีบริษัทเริ่มวางขายผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “Lab-Grown Meats” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า เนื้อสัตว์ที่ถูกปลูกขึ้นมาจากห้องแล็บ คุณผู้อ่าน อ่านถูกต้องแล้วครับ เนื้อสัตว์ที่ถูกปลูก ไม่ได้ถูกฆ่า ทุกวันนี้มีบริษัทที่คิดค้นและวิจัยเรื่องนี้มากกว่า 50 บริษัททั่วโลก และ มีบริษัทชื่อดังของโลกเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย ทั้งบริษัทน้ำมันอย่าง BP ที่พึ่งลงทุนไป 40 ล้านดอลลาร์ในการวิจัยพันธุกรรมของสัตว์ ธนาคารของสวิสเซอร์แลนด์อย่าง UBS ที่ลงทุนไปทั้งหมด 387.5 ล้านดอลลาร์กับบริษัทที่มีชื่อว่า Impossible Foods และบริษัทที่คิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง Nissin ที่เริ่มสกัดเอาเนื้อเยื่อของสัตว์มาปลูกเป็น สเต๊กลูกเต๋าของตัวเองแล้ว
เหตุผลที่ทุกวันนี้เราต้องมองหาทางเลือกอื่นที่จะสรรหาโปรตีนในการบริโภคก็เพราะว่า ประชากรทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ในแถบทวีปแอฟริกา และ เอเชีย ซึ่งอาหารเริ่มไม่เพียงพอกับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และ ทุกวันนี้การฆ่าสัตว์ก็เป็นต้นเหตุของก๊าซเรือนกระจกถึง 14.5% เลยทีเดียว ทำให้การที่เราสามารถปลูกเนื้อสัตว์เองจากห้องแล็บจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ วิธีการที่บริษัทเหล่านี้ทำก็คือ การเอาเซลล์ของสัตว์ออกมาจากตัวสัตว์ก่อน บางครั้งอาจจะเป็นขนของสัตว์หรือเลือดของสัตว์ หลังจากนั้นเซลล์ก็จะถูกเก็บในขวดแก้วในห้องแล็บ ก่อนที่จะถูกเพิ่มปริมาณอย่างทวีคูณเพื่อไปอยู่ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (bioreactor) จากนั้นเอง เซลล์เหล่านี้จะถูกเก็บในภาชนะก่อนที่จะถูกฉีดสารอาหารสำคัญอย่างเช่น กรดอมิโน วิตามินต่างๆ กลูโคส และปัจจัยที่สำคัญที่สุด สารเร่งการเติบโต ซึ่งสารนี้เองเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนแพงที่สุดในการผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ
ขั้นตอนสุดท้ายคือเราต้องรอการเติบโตของชิ้นเนื้อเหล่านี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาผ่านเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพอีกที สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีสัตว์ตัวไหนถูกฆ่าตายระหว่างการทำเนื้อสัตว์ชีวภาพ แต่สินค้าที่ออกมาเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าในโรงเชือด นอกจากเนื้อสัตว์ที่ถูกปลูกจากห้องแล็บ ทุกวันนี้ยังมี นม ไข่ เจลาติน ที่ถูกผลิตขึ้นในห้องแล็บอีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกใช้การสกัดดีเอ็นเอออกมาอีกที และจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเอาสกัดเอาดีเอ็นเอออกมา ทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและในราคาที่จับต้องได้ ก่อนเอาไปผสมกับแบคทีเรียหรือยีสต์ แล้วนำเข้าไปหมักเพื่อได้สินค้าอาหารในที่สุด
ปัญหาตอนนี้ของเนื้อสัตว์และอาหารประเภทอื่นๆที่ถูกปลูกขึ้นมาจากห้องแล็บคือ ราคายังสูงกว่าเนื้อสัตว์ปกติอยู่มาก เพราะต้นทุนที่สูงทั้งเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ สารเร่งการเติบโต เป็นต้น แต่ศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ก็มีสูง ทั้งทำให้ผู้บริโภคได้ใช้เนื้อเกรดพรีเมี่ยมในราคาที่ถูกลง ทำลายสิ่งแวดล้อมได้น้อยลง หรือแม้กระทั่งสามารถส่งอาหารเหล่านี้ไปช่วยคนในอวกาศและที่ดาวอังคารในอนาคตได้อีกด้วย ทุกวันนี้มีบริษัทสตาร์ทอัพที่วิจัยและพัฒนาเนื้อสัตว์ที่ปลูกในห้องแล็บจากทั่วโลก และมีเงินที่เข้ามาในบริษัทเหล่านี้ถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์
มีบริษัทที่น่าสนใจอย่างเช่นบริษัท Just ที่อยู่ที่ซิลิคอน แวลลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มเอาเนื้อสัตว์ที่ถูกปลูกจากห้องแล็บของตัวเองวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ประเทศสิงคโปร์แล้ว มีบริษัทอย่าง Memphis Meats ที่มาจากสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ที่ทำเนื้อหมู เนื้อไก่ และ เนื้อวัว จากห้องแล็บแต่ทุกวันนี้ต้นทุนก็ยังคงสูงอยู่ และบริษัทแรกๆที่ทำเนื้อสัตว์จากห้องแล็บอย่าง Mosa Meat จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ลาร์รี่ เพจ CEO ของ Google เคยให้ทุนในการสนับสนุนตั้งแต่ปี 2008 เลยทีเดียว การเติบโตของเนื้อสัตว์ในห้องแล็บคงเริ่มจากร้านอาหารที่อยากจะเข้าร่วมโครงการก่อนในปี 2022 นี้ โดยเริ่มจากอาหารที่มีชิ้นเล็กๆก่อนแต่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างมาก อย่างเช่น ฟัวกรา (Foie Gras) ก่อนที่จะค่อยๆทยอยเป็นอาหารอย่างเช่น ขนมจีบกุ้ง ขนมจีบปลา
และในปี 2025 หลายๆบริษัทวางแผนที่จะลดต้นทุนของบริษัทให้ได้มากที่สุดเพื่อจะวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อให้คนได้จับจ่ายใช้สอยและถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น จึงเป็นเรื่องน่าจับตามองเป็นอย่างมากว่า เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราอย่างไร.