ผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อการลงทุนหุ้นเทคฯ
ความผันผวนที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินช่วงเดือนที่ผ่านมา คือการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐอเมริกา ที่ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันในเดือนกุมภาพันธ์ มีการปรับเพิ่มของอัตราผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญ จากระดับ 1.1% เมื่อต้นเดือน ปรับตัวสูงอย่างรวดเร็วจนสามารถขึ้นไปสูงถึงระดับ 1.6% ก่อนการปรับตัวลงมาอยู่ในระดับ 1.5% ในปัจจุบัน ซึ่งการปรับตัวเช่นนี้ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกมีการปรับตัวขึ้นเช่นกัน
การเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในครั้งนี้ มีเหตุสำคัญมาจากมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในอนาคต หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ล้วนส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ น่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ยิ่งไปกว่านั้น อีกปัจจัยสำคัญคือ การคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกเหนือจากความคาดหวังว่าเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมากในช่วงกลางถึงปลายปี ยังมีผลเสริมจากราคาน้ำมันโลกที่มีการปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนผ่าน 10 Year Breakeven inflation ที่อยู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 3 ปี ซึ่งความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในระดับสูงก็ส่งผลต่อเนื่องทำให้ตลาดมีความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าอาจมีการยกเลิกนโยบาย QE ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยืนยันถึงความจำเป็นในการสนับสนุนเศรษฐกิจตลอดทั้งปี แต่ด้วยเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่มีฐานะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
การเพิ่มขึ้นของอัตราพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้ แม้จะรุนแรงเมื่อเทียบกับภาพในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี เคยมีการปรับตัวลงไปต่ำอยู่ที่ระดับ 0.6% เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แต่หากศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา การปรับเพิ่มขึ้นของการคาดการณ์เงินเฟ้อ ที่วัดจาก 10 Year Breakeven inflation ทุกๆ 1 เปอร์เซนต์ จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 0.9% โดยเฉลี่ย ซึ่งหากพิจารณาตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 1.2% แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นมาเพียง 0.5% เท่านั้น
ผลสำคัญที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการถือครองสินทรัพย์ (Asset allocation) ทั่วโลก ในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหุ้นเทคโนโลยีมีผลมาจากการปรับเปลี่ยนการลงทุนไปยังกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (cyclical stocks) และความน่าสนใจที่เพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร การปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีในครั้งนี้อาจก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนไทยที่ได้มีการลงทุนผ่านกองทุนรวมในช่วงปีที่ผ่านมา
ในช่วงปีที่ผ่านมา กองทุนรวมที่ลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเติบโตของผลตอบแทนเป็นอย่างดี ส่งผลให้การเข้าลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศในกลุ่มเทคโนโลยีมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษากองทุนรวมที่มีการลงทุนสูงในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีผลประกอบการดีที่สุดเมื่อปีที่แล้วจำนวน 50 กองทุน พบว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิมีการปรับตัวจาก 29,000 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3% ของการลงทุนในกองทุนต่างประเทศทั้งหมด เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 107,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการลงทุนในกองทุนต่างประเทศทั้งหมด
การลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปีที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อราคาของกองทุนรวมที่กระจายเป็นวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และถือเป็นความเสี่ยงของผู้ลงทุนไทยที่อาจพบเจอได้ตลอดช่วงปีนี้ เนื่องจากหากเรามองภาพข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ได้รับการสนับสนุนผ่านการเร่งฉีดวัคซีนและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง จะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในอนาคตมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงได้อีกในปีนี้ และอาจส่งผลให้เกิดการปรับฐานและส่งผลต่อผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนรวม ท่านผู้อ่านทุกท่านจึงควรมีการวางแผนการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในปีนี้ครับ