คดี Hopewell พลิกล็อค
มหากาพย์ที่คิดว่าจบ ดูเหมือนจะไม่จบสำหรับคดี Hopewell ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าเสียหายกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
*บทความโดย ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต นักกฎหมายพลังงาน
จุดสำคัญของคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลไทยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ ประเทศไทย จำกัด แต่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีเหตุเพิกถอนคำชี้ขาด รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คือ จ่ายค่าเสียหายให้กับ Hopewell
ประเด็นสำคัญที่พูดถึงกันมากในแวดวงวิชาการกฎหมาย คือ "การนับอายุความ" ของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสรุปลำดับเหตุการณ์ได้ ดังนี้
- รัฐบาลไทยบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ Hopewell มีผลในวันที่ 30 มกราคม 2541
- สัญญาสัมปทาน ถือเป็น 'สัญญาทางปกครอง' ที่ มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ว่า ต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”
- ศาลปกครองชั้นต้น พิจารณาเห็นว่า หาก Hopewell จะยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโตตุลาการ ก็ควรจะต้องยื่นฟ้องภายในอายุความ 5 ปี หรือ ภายในวันที่ 30 มกราคม 2546 คดีนี้จึงขาดอายุความ เพราะ Hopewell ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่ออนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547
- ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับความเห็นของศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นว่า การนับอายุความในคดีปกครองจะต้องเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ "ศาลปกครองเปิดทำการ" คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 ทั้งนี้ ตาม 'มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545' ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาว่า Hopewell ยื่นฟ้องคดีต่ออนุญาโตตุลาการภายในอายุความแล้ว ให้รัฐบาลไทยทำตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า 'มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545' ที่ให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
เนื่องจากมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติไว้ว่า การนับอายุความคดีปกครอง ต้องนับตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” นั้น มติที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองดังกล่าว จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า การดำเนินการของศาลปกครองจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายแห่งการนั้นกำหนดไว้
เมื่อวันที่17 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องว่า 'มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545' ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ เนื่องจากมติที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ มาตรา 5 และ 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 คือ ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญต้องถือว่าเป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร จึงเกิดคำถามขึ้นทันทีว่า
- รัฐบาลไทยยังต้องจ่ายเงินให้กับ Hopewell 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย หรือไม่?
- คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฉบับนี้ ต้องถือว่าเสียไปเลยตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ต้องติดตามกันต่อไปว่า มหากาพย์เรื่องนี้ จะดำเนินต่อไปอย่างไร