ส่อง 'แผนพัฒนาฯฉบับที่13' ความหวังพลิกโฉมเศรษฐกิจประเทศ
ประเทศไทยมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯมาตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปัจจุบันผ่านระยะเวลากว่า 60 ปี มี "แผนพัฒนาฯ" 12 ฉบับ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคแห่งชาติฉบับที่ 13 คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน ต.ค.2565 เพื่อเป็นแผนระดับชาติอีกฉบับที่ครอบคลุม กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตั้งแต่ปี 2566 - 2570
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะหน่วยงานรัับผิดชอบได้จัดทำร่างกรอบและทิศทางแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ในเบื้องต้นและอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆของสังคมเพื่อนำความเห็นที่ได้ไปประกอบการทำแผน
เป้าหมายหลักที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯฉบับที่13 คือ พลิกโฉมประเทศไทย ไปสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บอกว่าข้อแตกต่างของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 กับแผนพัฒนาฯฉบับอื่นๆ คือแผนฉบับนี้ได้เลือกเอาเป้าหมายที่จะกำหนดเป็นเรื่องสำคัญเฉพาะไม่ได้กำหนดให้ครอบคลุมทุกประเด็นทั้งหมดทุกด้าน เนื่องจากประเทศไทยยังมีแผนที่คลุมอยู่คือแผนยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นภาพรวมที่หน่วยงานต่างๆต้องทำตามกรอบดังกล่าวอยู่แล้ว
โดย 4 ประเด็นที่เป็นหัวใจของแผนแบ่งออกเป็น 13 หมุดหมาย ได้แก่ 1.เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วยเกษตรมูลค่าสูง การท่องเที่ยวเชิงคุณค่า การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การแพทย์ครบวงจร ประตูการค้าโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจดิจิทัล
2.สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ได้แก่ การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ขจัดความยากจนข้ามรุ่น สร้างความคุ้มครองทางสังคม 3.การสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน โดยเน้นที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ 4.ส่งเสริมให้เกิดปัจจัยสนับสนุนในการพลิกโฉมประเทศ ได้แก่กำลังคนที่มีสมรรถนะสูง และภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
เมื่อพิจารณา “ประเด็น” และ “หมุดหมาย” ของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 แล้วก็เห็นถึงความจำเป็นที่ในแผนการพัฒนาฯระดับประเทศต้องบรรจุเรื่องต่างๆเหล่านี้ไว้ในแผนฉบับนี้
แต่หากพิจารณาถึงข้อจำกัดโดยเฉพาะในประเด็นการส่งเสริมปัจจัยสนับสนุนในการพลิกโฉมประเทศในเรื่องสมรรถนะของ “คน” และ “ระบบราชการ” โดยเรื่องคนปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากจำนวนแรงงานที่ลดลงมากเรายังขาดคนที่มี “ทักษะและความเชี่ยวชาญแห่งอนาคต” ขณะที่ระบบราชการของไทยยังต้องมีการปฏิรูปควบคู่กับการลดต้นทุนทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นซึ่งส่วนนี้คิดเป็นประมาณ 1% ของจีดีพี
ทั้งสองส่วนที่กล่าวไปจึงเป็นหัวใจและความท้าทายที่สำคัญที่จะต้องแก้ไขเพื่อขับเคลื่อนให้แผนพัฒนาฯประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันจึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 สามารถร่วมแสดงความเห็นได้ที่
https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=plan13