สตาร์ทอัพเพื่อสังคม
การทำงานเพื่อสังคมในองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐมีวิวัฒนาการ การขยายผลอย่างต่อเนื่อง
หลายทศวรรษผ่านมาได้มีวิวัฒนาการของการทำงานเพื่อสังคมในองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐโดยเริ่มต้นจากรูปแบบของ
1.องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร(มูลนิธิ)
2.โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่แสวงหาผลกำไร(CSR)
3.กิจการเพื่อสังคม(Social Enterprises) และล่าสุดคือ
4.สตาร์ทอัพเพื่อสังคม(Social Startups)
ความแตกต่างที่สำคัญสำหรับวิวัฒนาการในแต่ละยุคคือการเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสังคมกับการแสวงหาผลกำไรเข้าด้วยกันซึ่งหากเป็นมูลนิธิในยุคแรกจะอาศัยเงินบริจาคมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานเพื่อสังคมในขณะที่หากเป็น CSR ในยุคต่อมาก็จะเป็นการที่องค์กรภาคธุรกิจแบ่งปันผลกำไรบางส่วนมาเพื่อทำงานให้กับสังคมแต่ก็จะยังคงเป็นการแบ่งแยกระหว่างการทำงานเพื่อสังคมกับการแสวงหาผลกำไร
ต่อมาได้มีแนวคิดของ Social Enterprises ซึ่งเป็นยุคแรกที่มีการเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสังคมกับการแสวงหาผลกำไรเข้าด้วยกันและเป็นวัตถุประสงค์หลักขององค์กร ดังนั้น Social Enterprises ที่ประสบความสำเร็จจะต้องไม่อาศัยเงินบริจาคและไม่ต้องอาศัยการแบ่งกำไรจากส่วนอื่นของกิจการมาเพื่อทำงานให้กับสังคมเพราะด้วยการประกอบกิจการหลักของ Social Enterprises ก็จะเป็นการทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้วแถมยังมีรายได้และกำไรที่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้อีก
ถึงแม้ Social Enterprises จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยและมีความยากยิ่งกว่าการทำงานเพื่อสังคมในรูปแบบเดิมหลายเท่าตัวเพราะยังต้องแสวงหาผลกำไรให้ธุรกิจอยู่รอดได้อีกแต่รัฐบาลไทยก็ยังได้สนับสนุนการประกอบกิจการ Social Enterprise ด้วยการตรากฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.๒๕๖๒
ซึ่งล่าสุดยังได้มีการขยายผลของแนวคิดดังกล่าวโดยด้วยการวิวัฒนาการจาก Social Enterprise เข้าสู่การเป็น Social Startups ซึ่งก็คงวัตถุประสงค์หลักของการเป็น Social Enterprises ไว้แต่ก็ต้องมีคุณลักษณะของการเป็นธุรกิจ Startups ที่ดีอีกด้วย กล่าวคือ
เป็นวิสาหกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นนวัตกรรม ที่ทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดและแก้ไขปัญหาของสังคม จนกระทั่งเกิดการดิสรัปชันของธุรกิจและสังคมในรูปแบบเดิมนวัตกรรม ของ Startups ส่วนมากจึงเกี่ยวข้องกับการประยุกช์ใช้เทคโนโลยีในเชิงลึก เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล จนมีสถานะของการเป็นผู้นำในด้านนั้นๆ และสามารถขยายผลในระดับจังหวัดประเทศหรือกระทั่งภูมิภาคเช่นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ Social Startups คือไอเดียแผนธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์คุณลักษณะข้างต้นและเงินทุนตั้งต้นมักไม่ใช่ปัญหาเพราะมีกองทุน (Social Venture Capitals) ที่พร้อมจะลงทุนในไอเดียที่ดีและทีมงานที่พร้อมจนเป็นที่พูดกันในวงการว่าเงินลงทุนนั้นหาไม่ยากแต่ไอเดียที่ดีนั้นหายากกว่ามากและสำหรับประเทศไทยทักษะที่พร้อมโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีกลับเป็นสิ่งที่หายากที่สุด
ความแตกต่างของ Social Startups กับ Social Enterprises จึงเปรียบเสมือนความแตกต่างระหว่าง Startups กับ SMEs ทั่วไป เพราะการเป็น Social Enterprises ไม่จำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นนวัตกรรม การประยุกช์ใช้เทคโนโลยี หรือการขยายผลในระดับจังหวัดประเทศหรือกระทั่งภูมิภาคได้ซึ่งการเป็น Social Startups ที่ประสบความสำเร็จจึงมีความยากยิ่งกว่าการเป็น Social Enterprises อยู่หลายเท่าตัวด้วยเป้าหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่กว่าเหนือชั้นกว่าและกว้างไกลกว่าซึ่งก็มากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังคงแยกไม่ออกระหว่าง Startups กับ SMEs และตัวอย่างของ Social Startups หรือกระทั่ง Social Enterprises ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับสังคมในประเทศไทยก็ยังคงมีน้อยกว่า CSR หรือมูลนิธิแต่แนวโน้มดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไปด้วยพลังของเจนเนอเรชั่นใหม่ที่ให้ความสนใจกับรูปแบบใหม่ของการทำงานที่เป็นสากลและมีความสนใจที่จะเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) มากกว่าเจนเนอเรชั่นก่อนหน้า
ซึ่งต้องรอดูสำหรับ Social Startup รายแรกของไทยที่จะสร้างความแตกต่างให้กับสังคมได้อย่างมีในนัยสำคัญอย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศอื่นเช่นเดียวกับที่ต้องรอคอยสำหรับ Startups ในเชิงธุรกิจที่จะเป็นยูนิคอร์นรายแรกเช่นกัน