“โควิด”ปัจจัยเสี่ยงเสรีLNG กดดันนำเข้าครึ่งปีหลัง
แผนการเปิดเสรีการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ปัจจุบันเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)
แผนการเปิดเสรีการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ปัจจุบันเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2560 มีมติกำหนดแนวทางไว้ 3 ระยะนั้น
ล่าสุด การประชุม กพช. เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ระยะที่ 2 แบ่งออก 2 กลุ่ม คือ 1. ตลาดที่มีการควบคุม (Regulated Market) และ 2. ตลาดที่มีการควบคุมบางส่วน (Partially Regulated Market) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณารายละเอียดแนวทางปฏิบัติต่างๆให้เกิดความชัดเจน และนำกลับมาเสนอ กพช.พิจารณาอีกครั้งในไตรมาส 2 ของปีนี้ เพื่อที่จะเปิดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ สามารถเริ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เข้ามาป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
แม้ กพช.จะมีมติชัดเจนในหลักเกณฑ์เปิดเสรีก๊าซฯแล้ว แต่ในทางปฏิบัตินั้น เอกชนที่ได้รับใบอนุญาต Shipper และรอคอยจะนำเข้าก๊าซ LNG ยังต้องรอลุ้นวิธีการปฏิบัติที่ กกพ.จะกำหนดรายละเอียดออกมาด้วย ซึ่งไม่ว่าภาครัฐจะออกกติกามาอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของเอกชนผู้นำเข้าก๊าซฯจะต้องยึดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว
การปลดล็อค! กติกาเปิดเสรีก๊าซฯ ไม่ใช่เรื่องกังวล แต่ถือเป็นข้อดีด้วยซ้ำ ที่ทำให้เห็นความชัดเจนจากฝ่ายกำหนดนโนยาย แต่สิ่งที่เอกชนจะต้องลุ้นต่อ คือ ปริมาณนำเข้าก๊าซฯที่แต่ละรายยื่นเสนอขออนุญาตต่อ กกพ.ไว้ จะสามารถนำเข้าได้เต็มจำนวนหรือไม่ เพราะการนำเข้าก๊าซฯ ได้ตามปริมาณที่เสนอไปย่อมเป็นผลดีต่อเอกชนแต่ละรายอยู่แล้ว เนื่องจากมีการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายไว้เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น หากแต่ละรายไม่สามารถนำเข้าก๊าซได้ตามปริมาณที่เสนอไป หรือ ถูกลงปริมาณลงมาก ก็มีความเสี่ยงในการบริหารจัดการต้นทุนนำเข้า และอาจกระทบต่อต้นทุนการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าของแต่ละได้ก็เป็นได้
นอกจานี้ิ ที่ประชุม กพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ยังได้มอบหมายให้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ไปพิจารณาปริมาณนำเข้าก๊าซฯที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดภาระ Take or Pay หรือ ไม่ใช้ก๊าซก็ต้องจ่ายให้กับ ปตท. และต้องไม่เป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศ
โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการอนุมัตินำเข้าก๊าซในช่วงสิ้นปีนี้ คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันการนำเข้า LNG ในอนาคต เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึงประมาณ มิ.ย.ของปี 2563 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต่างๆต้องหยุดชะงักลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศหายไปกว่า 10% หรือต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งระดับราคา LNG ตลาดโลก เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีที่ต่างประเทศมีความต้องการใช้ LNG ในระดับสูง ส่งผลให้ราคา LNG ช่วงต้นปีนี้ ทะยานขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 30 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
หากภาครัฐ อนุมัติให้มีการนำเข้า LNG เกิดขึ้นได้จริงในช่วงไตรมาส 3 หรือ ปลายปีนี้ ก็ต้องลุ้นต่อว่า สถานการณ์ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศและราคา LNG ตลาดโลกจะเอื้อต่อแผนเปิดเสรีก๊าซฯหรือไม่ หรือจะต้องรอฟ้าใหม่ในปีถัดไป แต่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะนำเข้า LNG ช้า หรือ เร็ว ก็ต้องไม่ลืมบริหารจัดการไม่ให้ส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าของคนไทยทั้งประเทศด้วย