‘เอไอ’ จะเปลี่ยนแปลงโลกการเขียนไปอย่างไร

‘เอไอ’ จะเปลี่ยนแปลงโลกการเขียนไปอย่างไร

คำพูดที่ว่าเอไอจะเข้ามาแทนที่มนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยีเอไอและแมชีนเลิร์นนิงได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้ในเวลาเพียงไม่กี่ปีโลกของเราก็กำลังจะเข้าสู่ยุคของเอไออย่างเต็มตัวแล้ว คำพูดที่ว่าเอไอจะเข้ามาแทนที่มนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจากเอไอได้รับการพัฒนาจนสามารถทำงานหลายประเภทแทนมนุษย์ได้สำเร็จ

ความคิดที่ว่าไม่ว่าอย่างไรเอไอก็ไม่สามารถสร้างงานเชิงสร้างสรรค์ เช่น การเขียนบทความ หรือแต่งนิยายได้นั้นก็เริ่มสั่นคลอน เมื่อมีข่าวของเอไอจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการพัฒนาให้ผลิตงานเขียนได้เสมือนมนุษย์เรา 

เช่น GPT-3 เอไอจาก Open AI ที่สามารถเขียนบทความและนิยายได้หลากหลายแบบ และสามารถต่อเติมเรื่องราวจากประโยคเพียงประโยคเดียวที่มนุษย์ป้อนให้ได้ หรือย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้วนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นก็พัฒนาเอไอที่สามารถแต่งเรื่องสั้นจนชนะการประกวดมาแล้ว นอกจากตัวอย่างเหล่านี้ยังมีการพัฒนาเอไอเพื่อมาใช้กับการเขียนอยู่ไม่ขาด เรียกได้ว่าเอไอกำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาสู่วงการนักเขียนโดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัว

ด้วยเทคโนโลยี Natural Language Processing (NLP) ที่เปิดโอกาสให้เอไอเรียนรู้ภาษาของมนุษย์ ทำให้สามารถผลิตงานเขียนที่มีความคล้ายคลึงกับผลงานของมนุษย์ได้ บวกกับความสามารถของอัลกอริธึมที่สามารถเรียนรู้และแยกแยะข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว เอไอจึงสามารถรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัย ข่าว หรือบทความอื่นๆ มาใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างงานเขียนได้อย่างครอบคลุมและเหนือกว่าความสามารถของมนุษย์ 

อีกประเด็นหนึ่งที่เอไอชนะเราอย่างขาดลอยคือ ความเร็วในการผลิตงาน เอไอไม่จำเป็นต้องหยุดพัก สามารถทำงานได้ตลอดเวลา และไม่ต้องแบ่งเวลาในการคิด ทำให้การเขียนบทความหลายพันบทความต่อสัปดาห์นั้นไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถ 

หรือถ้าหากพูดถึงการเขียนบทความเชิง SEO การตลาดที่เน้นการใช้คีย์เวิร์ดนั้น เอไอก็ไปไกลกว่ามนุษย์เราแล้ว และปัจจุบันก็มีซอฟต์แวร์จำนวนมากที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อช่วยสร้างงานเขียนประเภทนี้โดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ทำให้การเขียนบทความเชิงให้ข้อมูล หรือข่าวสารต่างๆ ไม่ได้อยู่เหนือความสามารถของเอไออีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้เอไอจะทำได้แทบทุกอย่าง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีนิยายและเรื่องสั้นที่ผลิตโดยเอไอล้วนๆ ออกมาเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ปัญหาคือเนื้อหาของนิยายเหล่านั้นยังไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก เนื่องจากเอไอยังขาดส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้นิยายมีอรรถรส ซึ่งได้แก่ อารมณ์และความทรงจำในแบบของมนุษย์ที่เอไอยังลอกเลียนแบบไม่ได้ 

การเขียนนิยายที่จะสะเทือนอารมณ์ของผู้อ่านได้นั้นต้องอาศัยการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านตัวอักษร การสร้างเส้นเรื่องที่พัฒนามาจากประสบการณ์จริง และสร้างตัวละครที่มีความลึกซึ้ง ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ แม้เอไอจะสามารถเรียนรู้จากข้อมูลได้ทุกรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาความรู้สึกที่แท้จริงตามแบบที่มนุษย์มีได้ และนี่คือข้อจำกัดที่ทำให้เอไอยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่นักเขียนได้อย่างสมบูรณ์

ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเอไอกำลังจะมาแทนที่มนุษย์ แต่ในทางกลับกันถ้าเรารู้จักเรียนรู้และใช้เอไอให้เป็นประโยชน์ นอกจากจะไม่ถูกแทนที่แล้ว ยังสามารถใช้เอไอมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ให้สูงขึ้นไปอีก ดังในกรณีนี้ ถ้าหากนักเขียนลองปรับใช้เอไอให้เสมือนเป็นตัวช่วยในการสร้างงานเขียนที่มีคุณภาพ เช่น ใช้เอไอในการรวบรวมข้อมูล หรือควบคุมคุณภาพของงานเขียน ก็จะสามารถสร้างผลงานที่คุณภาพสูงขึ้นไปอีกระดับ 

ปัจจุบันนี้ มีซอฟต์แวร์จำนวนมากที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อช่วยเรื่องการเขียนโดยเฉพาะ หากเรารู้จักหยิบเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาศักยภาพของตนเอง เราก็จะเติบโตไปอย่างแข็งแรงพร้อมๆ กับเอไอได้ในที่สุด