พลิกวิกฤต เพิ่มคุณค่า แสวงหาโอกาสใหม่

พลิกวิกฤต เพิ่มคุณค่า แสวงหาโอกาสใหม่

สวัสดีครับ เป็นที่ทราบดีว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

 และในขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้งโดยเฉพาะในประเทศไทย ผลกระทบจากโรคระบาดหลายระลอกที่ผ่านมายังทำให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่ในตลาดแรงงานและการจ้างงานขยายกว้างขึ้นจากเดิมอันเป็นผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่หลงเหลือจากทศวรรษที่แล้ว นอกจากนี้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตลาดแรงงาน ข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) ชี้ให้เห็นว่าแรงงานหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนครั้งสำคัญ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ตัวเลขการว่างงานที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.6 โดยในไตรมาสที่ 2  ของปี 2563 จำนวนชั่วโมงการทำงานที่สูญเสียไปสามารถเปรียบได้กับจำนวนงานที่เสียไปถึง 495 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะต้องสูญเสียงานหลายล้านตำแหน่งจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ภายในปี 2565 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่จะสร้างงานขึ้นมาใหม่กว่า 133 ล้านตำแหน่ง McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำได้เผยแพร่รายงานชิ้นใหม่โดยเน้นย้ำว่าในโลกยุคดิจิทัลนี้ “การเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย” (Intentional Learning) จะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนสามารถก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมีพลวัต

กล่าวคือ แทนที่จะเลือกเรียนรู้จากการทำงานแบบแยกเป็นแต่ละชิ้นงาน เราสามารถเลือกเรียนรู้กับทุกอย่างพร้อมๆ กัน แม้ว่าแต่ละคนจะมีความรับผิดชอบและบทบาทที่แตกต่างกัน แต่ประสบการณ์ที่เราต้องพบเจอระหว่างวัน อาทิ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุมหรือการทำงานแต่ละชิ้นให้ลุล่วงไปด้วยดีล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตแทบทั้งสิ้น

ทั้งนี้คุณลักษณะที่สำคัญสองประการที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายคือ กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) และความสนใจใคร่รู้ (Curious Mindset) แม้ว่าแต่ละบุคคลจะมีคุณลักษณะทั้งสองประการนี้ไม่เท่ากัน แต่เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปที่จะสร้างกรอบความคิดนี้ขึ้น คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมักเชื่อว่าความสามารถและความฉลาดเฉลียวสามารถพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา โดยการมีแนวคิดการเติบโตจะทำให้เราหลุดพ้นจากความคาดหวังที่จะเป็นคนสมบูรณ์แบบ แท้ที่จริงแล้วความล้มเหลวและความผิดพลาดไม่ได้หมายถึงขีดจำกัดของสติปัญญาของเรา แต่เป็นเครื่องมือที่บ่งชี้ว่าเราได้พัฒนาไปได้ไกลเพียงใดแล้ว

บางคนอาจจะมีความสนใจใคร่รู้มากกว่าคนอื่นโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจหมายรวมถึงการเอาชนะความกลัวที่จะตั้งคำถาม การลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และความยินดีที่จะเปิดรับความท้าทาย ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำวัน เช่น การเลือกเรียนภาษาที่สาม การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล หรือ การหัดเล่นเครื่องดนตรี เป็นต้น

 

ในการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโตและความสนใจใคร่รู้ สิ่งที่สำคัญอีกประการคือการหาเวลาที่จะ “คิด” และ “ไตร่ตรอง” สิ่งต่างๆ ที่เราพบเจอในแต่ละวันไปปรับใช้ในการทำงานในวันพรุ่งนี้  โดยบริษัทหลายแห่งกำลังพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานด้วยการลดเวลาการประชุมและหันมาให้ความสำคัญกับการให้เวลาพนักงาน “คิด”มากยิ่งขึ้น

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่นี้จะไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียว แต่จะเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบการทำงานที่เป็นอัตโนมัติมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานอย่างแพร่หลาย แม้กระทั่งช่วงที่โลกของเรายังไม่รู้จักกับ COVID-19 เราจะเริ่มสังเกตได้ว่าแนวโน้มการจ้างงานตลอดชีวิตค่อยๆ หายไป ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทั้งพนักงานในระดับบริหารและปฏิบัติการที่ต้องพัฒนาทักษะขึ้นมาใหม่เพื่อก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้

Mr. Anders Ericsson นักจิตวิทยาและผู้ศึกษาด้านการพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ให้ความเห็นว่าทักษะและความเชี่ยวชาญในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ตามหลักการของวิทยาศาสตร์ ที่จริงแล้วผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายไม่ได้เกิดมาพร้อมกับทักษะแต่พวกเขาสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญนั้นขึ้นจากการลงมือทำ ความผิดพลาด การเรียนรู้ และการลงมือทำอีกครั้งจนได้ผลลัพธ์ตามต้องการ

หลายคนอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “การฝึกฝนทำให้สมบูรณ์แบบ” (Practice Makes Perfect) แต่ประโยคนี้อาจจะยังไม่เฉพาะเจาะจงเพียงพอ Mr. Ericsson กล่าวว่า การทำสิ่งต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ได้ช่วยเสริมสร้างทักษะแต่ที่จริงแล้วการลงมือทำด้วยเจตนาที่แน่วแน่ในการเรียนรู้ รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่มีความท้าทายอย่างเหมาะสม จะสร้างความเชี่ยวชาญให้แก่เราได้ในท้ายที่สุดครับ