109,741 ข้อร้องเรียน อาลัย ‘เจ้าชายฟิลิป’
งานพระศพของ “เจ้าชายฟิลิป” ดยุคแห่งเอดินบะระ พระสวามีของพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและจำกัดแขกร่วมงานเพียง 30 คนเท่านั้น
ความเรียบง่ายนี้ ถือเป็นส่วนผสมระหว่าง พระประสงค์ของผู้ตาย ความประหยัดมัธยัสถ์และการเป็นแบบอย่างในการเว้นระยะทางสังคมในช่วงการแพร่ระบาดของโรค และที่สำคัญที่สุดคือการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของราชวงศ์วินด์เซอร์ ในฐานะกษัตริย์แห่งอังกฤษ ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและประเทศในเครือจักรภพ
สามารถกล่าวได้ว่าภาพชายรูปร่างสูงโปร่งมือไขว้หลังที่จะยืนอยู่ข้างเยื้องไปทางเบื้องหลังของควีนประมาณ 2 ก้าวในทุกที่ทุกกรณียกิจนั้นเป็นภาพจำของเจ้าชายฟิลิปต่อคนทั่วโลก ความอดทน ความจงรักภักดีและความรับผิดชอบต่อหน้าที่โดยไม่ปริปากบ่นซึ่งตรงกับคติ “Keep Calm and Carry On” ของคนอังกฤษนั้น ถือเป็นคุณสมบัติที่คนรุ่นก่อนและเจ้าชายฟิลิปมี ซึ่งเราในฐานะคนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้ข้อดีและนำมาปรับใช้ได้
ท่ามกลางงานพระศพที่เรียบง่ายที่คนอังกฤษและคนทั่วโลกให้ความสนใจนั้น กระแสการร้องเรียนถึงการงดหรือเลื่อนการออกอากาศของรายการปกติทางช่องต่างๆ ในเครือ BBC ซึ่งถูกทดแทนด้วยรายการที่เกี่ยวข้องกับการไว้อาลัยนั้นถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
109,741 คือจำนวนตัวเลขการร้องเรียนของประชาชนต่อช่อง BBC ซึ่งถือเป็นช่องที่ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐหลายพันล้านปอนด์ หมายความว่า BBC นั้นได้รับเงินอุดหนุนจากทุกครัวเรือนในอังกฤษในรูปแบบของ TV License (ค่าใบอนุญาตดูโทรทัศน์) ครัวเรือนละ 159 ปอนด์ต่อปี เทียบเป็นเงินบาทก็เกือบ 7,000 บาท
หากมองในมุมของสถิติตัวเลขการร้องเรียนแล้วนั้น การร้องเรียนเรือนแสนครั้งนี้ ถือเป็นการร้องเรียนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งช่อง และทิ้งห่างจำนวนข้อร้องเรียนอันดับ 2 ที่ 63,000 ครั้งในปี 2548 และอันดับ 3 ที่ 42,000 ครั้งในปี 2551 เรียกได้ว่าการร้องเรียนครั้งนี้มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากครั้งก่อนๆ
ไม่ใช่แค่เพียงช่องต่างๆ ในเครือ BBC เท่านั้นที่รายการต่างๆ ที่ถูกแทนที่ด้วยรายการเฉพาะกิจอันเกี่ยวข้องกับการไว้อาลัยเจ้าชาย ยังมีช่องอื่นๆ อาทิ ITV และช่อง 4 ที่ใช้แนวทางปฏิบัติเดียวกัน รายการที่ได้รับผลกระทบ เช่น Master Chef รายการแข่งขันทำอาหารที่ไม่แค่เพียงโด่งดังในอังกฤษ แต่ยังมีแฟรนไชส์จนโด่งดังในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยเอง ก็จำต้องเลื่อนเวลาการออกอากาศรอบชิงชนะเลิศออกไปเพื่อให้เวลากับการไว้อาลัย
เรตติ้งและจำนวนของผู้ชมรายการก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงของการออกอากาศรายการไว้อาลัยแทนที่รายการปกติ อาทิ ช่อง BBC One มีจำนวนผู้ชมลดลง 6% เมื่อเทียบรายสัปดาห์ ช่อง BBC Two มีจำนวนผู้ชมลดลงถึง 2 ใน 3 ในช่วงไพรม์ไทม์ของวันระหว่างเวลา 19.00-23.00 น.
กระแสการวิจารณ์และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการออกอากาศรายการหรือข่าวสารเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ในอดีตยังเคยมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแต่งกายของนักข่าวกรณีประกาศการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี เรียกได้ว่าการตัดสินใจจะทำ หรือไม่ทำอะไร ทำมาก หรือทำน้อยอย่างไรเสียก็ไม่พ้นการถูกวิจารณ์
และนั่นคือเสน่ห์ของเสรีประชาธิปไตยอังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างของประเทศประชาธิปไตยโดยรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ประชาชนในฐานะผู้ชมและผู้อุดหนุนผ่านทั้งภาษีและค่า License fee มีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ มีสิทธิในการร้องเรียนเพื่อความวัฒนาสถาพร เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
หากมองด้วยใจที่เป็นธรรม การวิพากษ์วิจารณ์ที่สุภาพถูกกาลเทศะ การติเพื่อก่อนั้นอาจจะมีค่าพอๆ กับคำชมที่ออกมาจากน้ำใสใจจริง หรืออาจจะมีค่ามากกว่าด้วยซ้ำ