ขยายฐานความสุขในยุคโควิดระบาด

ขยายฐานความสุขในยุคโควิดระบาด

บทความในคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 20 พ.ย. 2552 พูดถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุข  วันนี้ขอเสนอให้พิจารณาปัจจัยเหล่านั้นในบริบทของการทำสวนครัว

เนื่องจากการกักตัวอยู่กับบ้านในช่วงวิกฤตการณ์อันเกิดจากโควิด-19 เปิดโอกาสให้ทำสวนครัวอย่างจริงจัง เรื่องสวนครัวน่าจะมีความเข้าใจเบื้องต้นร่วมกันอยู่แล้วว่า ครอบคลุมการปลูกพืชจำพวกผัก สมุนไพรและผลไม้สำหรับใช้ในครอบครัว  จะปลูกอะไรเท่าไรมีคาวามยืดหยุ่นได้มากเนื่องจากความแตกต่างกันในด้านสถานที่ เวลา รสนิยมในการบริโภค ฯลฯ  ย้อนไปในช่วงสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง สังคมตะวันตกรวมทั้งสหรัฐสนับสนุนให้ประชาชนทำสวนครัวโดยเรียกว่า “สวนชัยชนะ” (victory garden) เพื่อแก้ภาวะวิกฤติเพราะเชื่อว่าการใช้เวลาทำสวนครัว นอกจากจะช่วยเพิ่มอาหารเพื่อการบริโภคในประเทศแล้ว ยังช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจให้ประชาชนอีกด้วย  

ข้อมูลของบทความที่อ้างถึงมาจากสังคมตะวันตกซึ่งค้นคว้าวิจัยจนได้ข้อสรุปว่า หลังจากมีปัจจัยสำหรับใช้สนองความจำเป็นเบื้องต้นในการดำรงชีวิตแล้ว ความสุขของคนเราโดยทั่วไปมาจาก 8 ปัจจัยได้แก่ การเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ การเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา การมีความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง ความใส่ใจหรือความช่างสังเกตสรรพสิ่งรอบด้าน การให้ การอยู่กับธรรมชาติ การรับประทานอาหารครบหมู่แบบพอประมาณและการทำงานที่ชอบ 

น่าจะเป็นที่ประจักษ์ว่าการทำสวนครัวก่อให้เกิดปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขได้เกือบครบถ้วนเนื่องจากผู้ทำต้องเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน ใส่ใจกับทุกอย่างรวมทั้งการเติบโตแบบช้า ๆ ของพืช มีโอกาสเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับพืชชนิดต่าง ๆ รวมทั้งประโยชน์ของมัน ได้อยู่กับธรรมชาติอย่างต่อเนื่องและได้ส่วนประกอบอาหารที่ดี  ในกรณีที่มีเหลือจากการใช้ในครอบครัว การแจกจ่ายให้แก่ผู้อื่นเป็นฐานของการสร้างไมตรีจิตและการกระชับมิตรให้แนบแน่นขึ้นด้วย 

ในปัจจุบันนี้ คงเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่าการผลิตอาหารมักอาศัยสารเคมีจำนวนมากโดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช  ด้วยเหตุนี้ พืชผัก สมุนไพรและผลไม้ที่ซื้อขายกันในตลาดส่วนใหญ่จึงมีสารเคมีตกค้างติดมาด้วย  จริงอยู่ภาครัฐมักบังคับใช้มาตรการป้องกันมิให้สารเคมีตกค้างอยู่มากจนเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่ก็มักไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงเสมอไป  นอกจากสารเคมีเหล่านั้นจะเป็นอันตรายแก่ร่างกายผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศอีกด้วย  การทำสวนครัวซึ่งผู้ทำสามารถควบคุมได้ว่าจะใช้สารเคมีหรือไม่และใช้เท่าไรจึงเปิดโอกาสให้ลดการตกค้างของสารเคมีในอาหารพร้อมกันไปด้วย

อนึ่ง ในยุคนี้มีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นเรื่องการรณรงค์ให้ทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์เพื่อลดอันตรายจากสารเคมีต่างๆ  ในขณะเดียวกันก็มีการค้นคว้าหาความรู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไร  การค้นคว้านี้ได้ทั้งความรู้ใหม่และกลับไปพบภูมิปัญญาเก่าที่เคยใช้มาก่อนแต่ทิ้งไปเพราะการใช้สารเคมีเข้ามาแทนที่ภูมิปัญญาเดิม  ในกระบวนการนี้ มีข้อสังเกต 2 อย่างที่น่าจะมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับคนไทยจำนวนมาก นั่นคือ การปลูกพืชหลากหลายและการใช้ดาวเรืองป้องกันศัตรูพืช 

ภูมิปัญญาดั้งเดิมเกี่ยวกับการปลูกพืชหลากหลายไว้ในบริเวณเดียวกันเป็นที่มาของเกษตรกรรมตามทฤษฎีใหม่ซึ่งอยู่ในกรอบของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ส่วนดาวเรืองซึ่งมีสีเหลืองเป็นดอกไม้ที่ชาวไทยปลูกถวายพ่อหลวง ร. 9 ผู้ทรงสังเคราะห์เรื่องเกษตรตามทฤษฎีใหม่และแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงออกมา  ด้วยเหตุนี้จึงมองได้ว่าผู้ทำสวนครัวได้สิ่งต่างๆ มากมายไปพร้อมกันนอกจากสิ่งที่ตนปลูก 

ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลกลางของสหรัฐไม่มีนโยบายสำหรับสนับสนุนให้ชาวอเมริกันทำสวนครัวเช่นในระหว่างสงครามโลก  อย่างไรก็ดี มีการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและองค์กรเอกชนอย่างกว้างขวาง  สำหรับผู้ที่ไม่มีที่ดินของตนเอง ภาครัฐมักจัดพื้นที่ของรัฐให้ หรือไม่ก็ขอใช้ที่ดินของเอกชนที่ยังไม่ได้ใช้ทำประโยชน์  ในกรุงวอชิงตันอันเป็นเมืองหลวง มีสวนครัวชุมชนที่ทำกันอย่างจริงจังถึงกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลเสด็จไปทอดพระเนตร  เมื่อเทียบกับกรุงวอชิงตันซึ่งทำสวนครัวไม่ได้ในฤดูหนาว เมืองไทยได้เปรียบมาก จึงน่าจะทำกันอย่างกว้างขวาง  หากยังไม่ได้ทำ ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มลงมือ.