รวมพลังกู้วิกฤติคู่ขนาน 'โควิด-เศรษฐกิจ'
"วัคซีน" ตัวแปรสำคัญในการพลิกฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจและกอบกู้ความเชื่อมั่นประเทศไทยที่ถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดขณะนี้
จากการลุกลามอย่างรวดเร็วในวงกว้างส่งผลกระทบอย่างหนักกว่า 2 ครั้งแรกที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อในอัตราสูงทะลุ 2,000 รายอย่างต่อเนื่อง เสียงเรียกร้องจากทุกฝ่ายจึงดังกระหึ่มให้ภาครัฐจัดการเร่งรัดการกระจายและฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ประเทศไทยให้เกิดขึ้น เพราะชื่อว่าจะบรรเทาสถานการณ์และความกดดันต่างๆ ลงได้บ้าง
โดยองค์กรภาคเอกชน นักธุรกิจต่างออกโรงช่วยกันส่งเสียงต่อภาครัฐถึงแนวทางการสนับสนุนต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการทำงานในเวลานี้ ด้วยเป้าหมายสูงสุดหากสามารถฉีดวัคซีนได้เร็วและมีปริมาณมากเท่าไร ไม่เพียงแต่ป้องกันหรือบรรเทาความร้ายแรงของโรค แต่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น มั่นใจ ต่อก้าวเดินไปข้างหน้าในการดำเนินกิจกรรม ธุรกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการเดินทาง การท่องเที่ยว การเคลื่อนย้ายคนได้ตามแผนที่วางไว้ นำสู่การหมุนเวียนของเม็ดเงินลงในระบบทุกๆ ภาคส่วนให้วงล้อเศรษฐกิจหมุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดยังมาเป็นระลอกไม่จบสิ้นทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งไม่มีใครคาดเดาว่าต่อให้ได้รับวัคซีนกันพอประมาณหรือเพียงพอแล้วก็ตาม โรคระบาดโควิดจะไม่หวนกลับมาอีกและกลายพันธุ์ไปอย่างไร แต่อาจ "อุ่นใจ" ขึ้นเล็กน้อยว่าเรามีวัคซีนเป็นเครื่องมือป้องกันต่อการความร้ายแรงของโรคในขั้นหนึ่งซึ่งฤทธิ์เดชจะไม่เทียบเท่าที่ผ่านมา
“วัคซีน” จะเป็นแนวป้องกันที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุขเช่นก่อนหน้ามหันตภัยโควิดจะบังเกิดขึ้นสร้างความปั่นป่วนต่อโลกอย่างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา แน่นอนว่าทั้งความผันผวนจากการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าทำให้การประเมินการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละห้วงเวลาถูกขยับให้ล่าช้าออกไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะตั้งรับต่อไปอย่างไร?
สถานภาพทางเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางและคาดว่าจะยังคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปีข้างหน้ากว่าจะผงกหัวกลับขึ้นมา ความมั่นคงทางด้านอาชีพการงานและรายได้ของประชาชน ล้วนชะงักงันแทบทุกสาขาอาชีพ แม้จะมีธุรกิจบางแขนงได้รับอานิงสงส์หรือโอกาสใหม่จากการวิกฤติครั้งนี้ก็ตาม แต่โดยภาพรวม “กำลังซื้อ” หรือ “อำนาจการจับจ่ายใช้สอย” ไม่อู้ฟู่เหมือนเดิม
พฤติกรรมการใช้จ่ายคิดมากขึ้นแม้กระทั่งกลุ่มคนระดับบนซึ่งเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของสินค้าและบริการต่างๆ ที่ทุกวิกฤติการณ์จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับสุดท้ายนั้น หากแต่ “มู้ดแอนด์โทน” หรือบรรยากาศในตลาดไม่ได้เอื้ออำนวยให้อยากจะควักเงินออกจากกระเป๋ามากนัก กลุ่มผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการรายย่อยคนรุ่นใหม่ หรือที่เราเรียกว่าพลังจับจ่ายของมิลเลนเนียลส์ใช่ว่าจะเหมือนเดิม!
สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ต้องรับรู้ร่วมกัน และจะก้าวเดินลำพัง หรือ วันแมนโชว์ไม่ได้! รัฐ เอกชน และประชาชน ต้องผนึกกำลังตั้ง "การ์ดไม่ตก" เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคแรก เพราะหากการระบาดของโควิดยังไม่นิ่ง การจะ "ขยับเศรษฐกิจ" ให้ฟื้นตัวไต่ระดับกลับสู่ขาขึ้นคงลำบากและไม่ต่อเนื่อง รัฐต้องเป็นแกนนำในการสร้างสมดุลของการการป้องกันด้วยระบบสาธารณสุขที่ทรงประสิทธิภาพ และพลิกฟื้นเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กันแบบคู่ขนาน คงไม่ใช่การเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน
เพียงแต่ต้องจัดลำดับความสำคัญในการทุ่มเททรัพยากรลงไปให้ถูกที่ ถูกทาง มากกว่า การใช้ชีวิตและเครื่องยนต์เราจะได้ไม่ติดๆ ดับๆ สุดท้ายแล้วเกรงจะน็อคไปง่ายๆ