'อียู' เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ปลดล็อกศักยภาพขยะ
Digitalisation หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล นับเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนและหมุนเวียนของ อียู
สหภาพยุโรปได้เล็งเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงการทำงานของภาคธุรกิจและภาครัฐเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการใช้วัตถุดิบ (raw materials) รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุหมุนเวียนหรือวัสดุทุติยภูมิมากขึ้น ตลอดจนการ “upcycle” ขยะ ไม่ว่าจะเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ การซ่อมแซม และการรีไซเคิล
สหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการใช้วัสดุหมุนเวียนในสหภาพยุโรปเป็นสองเท่าในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ (Circular Economy Action Plan (CEAP) ซึ่งได้นำเสนอมาตรการต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนสินค้าในตลาดยุโรปให้เป็นสินค้าที่ยั่งยืนและมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ปรับปรุงจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการนำวัตถุดิบทุติยภูมิกลับมาใช้ใหม่ในเศรษฐกิจสหภาพยุโรปเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น
ทั้งนี้ อียูคาดว่าแผนปฏิบัติการฯ นี้ จะสามารถสร้างงานใหม่กว่า 700,000 ตำแหน่งและเพิ่มค่า GDP ของอียูขึ้นร้อยละ 0.5 ในปี ค.ศ. 2030
แต่ทว่าการเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจให้พร้อม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเทรนด์การบริโภคของประชาชนให้หันมาบริโภคสินค้าและบริการที่ยั่งยืนมากขึ้น
เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ซึ่งจะสามารถช่วยปฏิรูปภาคการผลิตและการบริโภคในยุคศตวรรษที่ 21 ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
๐ การใช้ดิจิทัลโซลูชั่นในการจัดการแยกขยะ
เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีระบบการแยกขยะที่แตกต่างกันออกไป การจัดการขยะรีไซเคิลในสหภาพยุโรปเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน การพัฒนาระบบเทคโนยีสมัยใหม่ที่เป็นระบบสากลเพื่อช่วยแก้ปัญหาและจัดการแยกขยะที่มีศักยภาพมารีไซเคิลจึงเป็นดิจิทัลโซลูชั่นที่ตอบโจทย์นี้
อาทิ การใช้เครื่องจักรในการเก็บและคัดแยกขยะ การติดตั้งเครื่องรับซื้อบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล หรือ เครื่อง RVM สำหรับการจัดการขยะประเภทขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม และการประยุกต์ใช้เซ็นเซอร์สำหรับใช้แยกขยะในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรีไซเคิล และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มอัตราการรีไซเคิล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอุปทานวัสดุหมุนเวียน (เพื่อทดแทนการใช้วัตถุดิบบริสุทธิ์) ในวงจรเศรษฐกิจมากขึ้น
อย่างบริษัท Sirplus สัญชาติเยอรมนี ซึ่งได้เล็งเห็นประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี IoT ในการลดปริมาณขยะจากอุตสาหกรรมอาหาร โดยร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพอื่น ๆ เพื่อรวบรวมเก็บข้อมูลของผลิตภัณฑ์อาหารแต่ละรายการตั้งแต่วันที่ผลิต ส่งผลให้บริษัทสามารถตรวจสอบวันหมดอายุของสินค้าได้อย่างแม่นยำและสามารถจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างขยะอาหารที่ไม่จำเป็น ตาม EU Waste Hierarchy ที่เน้นการป้องกันการสร้างขยะเป็นปัจจัยแรก
การนำข้อมูล big data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็เป็นโซลูชั่นที่น่าสนใจ อาทิ มาตรการออกดิจิทัลพาสปอร์ตสำหรับสินค้าเพื่อติดตามสินค้าตลอดวงจรการใช้งานของสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นการบันทึกข้อมูลเฉพาะของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบของสินค้า วัตถุดิบที่สามารถทำไปรีไซเคิลได้ วัตถุดิบที่เป็นอันตราย วิธีการและศูนย์ซ่อมแซมสินค้า แหล่งหาอะไหล่และทำลายสินค้า ซึ่งสหภาพยุโรปมีกำหนดเสนอร่างกรอบกฎหมาย Sustainable Products Policy ภายในปี ค.ศ. 2021 นี้
การนำเทคโนโลยี Deep Learning (DL) ของ AI มาใช้ในการแยกประเภทของขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็น PET HDPE PVC หรือ PP เพื่อให้สามารถนำขยะพลาสติกแต่ละประเภทกลับมาใช้ได้อีก ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะและมลพิษที่เกิดจากการเผาขยะและ/หรือการฝังกลบขยะอีกด้วย
๐ เปลี่ยนกองเอกสารให้เป็นระบบดิจิทัล เพิ่มความโปร่งใสในการขนส่งขยะ
เมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องพลาสติกแล้ว ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายห้ามส่งออกขยะพลาสติกของสหภาพยุโรปก็คงไม่ได้ เนื่องจากตั้งแต่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งประจวบเหมาะกับมาตรการยกเลิกการนำเข้าขยะของจีน ส่งผลให้มีการแอบลักลอบขนส่งขยะพลาสติกจากยุโรปจำนวนมากไปยังประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย (รวมถึงประเทศไทย) เพื่อนำไปจัดการโดยวิธีผิดกฎหมาย
อย่างเมื่อเดือนมีนาคมศุลกากรฝรั่งเศสได้ตรวจยึดขยะหลายประเภทจำนวนกว่า 53 ตัน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามพิธีการในอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการจัดการของเสียอันตราย ที่อยู่ในขั้นตอนการส่งออกมายังประเทศไทย
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและกำลังพิจารณาที่จะเสนอร่างปฏิรูปกฎหมายด้านการขนส่งขยะ (EU Waste Shipments Regulation) โดยเสนอให้มีการจำกัดการส่งออกขยะที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงขั้นตอนการนำวัตถุดิบมาใช้ใหม่และการรีไซเคิลในยุโรปสะดวกมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการเสนอร่างภายในเดือนมิถุนายนนี้
นาย Emmanuel Katrakis เลขาธิการจาก European Recycling Industries' Confederation (EuRIC) และในฐานะผู้แทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรีไซเคิล ได้เสนอให้คณะกรรมาธิการฯ นำแนวทางการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมาใช้ในการจัดการกับขั้นตอนเอกสารราชการ เนื่องจากปัจจุบันการเตรียมเอกสารสำหรับการขออนุญาตขนส่งขยะ 1 ครั้ง อาจประกอบด้วยเอกสารรวมกันกว่า 1,000 หน้าและบางกรณีอาจใช้เวลาถึง 1 ปีในการอนุมัติ ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการรีไซเคิลขยะในยุโรป
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลคาดหวังว่า ร่างกฎหมายใหม่จะมีข้อกำหนดด้านการเคลื่อนย้ายขยะระหว่างประเทศสมาชิกที่เสรีมากขึ้น เนื่องจากการค้าขายวัสดุทุติยภูมิอย่างเสรีนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มขีดการแข่งขันของอุตสาหกรรมรีไซเคิลและการเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป
๐ ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ มุ่งพัฒนาวัสดุที่ยังยืน
นอกไปจากนั้น การนำศักยภาพของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องพึ่งพาการศึกษาวิจัยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีความสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาวัสดุที่ยั่งยืนที่สามารถใช้ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (non-renewable resources) โดยขอเสนอไอเดียสำหรับการพัฒนาวัสดุยั่งยืน 3 ชนิด ดังนี้
1) บริษัท Circular Systems S.P.C. ซึ่งมีธุรกิจทั้งที่สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และจีน สามารถพัฒนานวัตกรรมในการแปลงขยะจากเศษอาหาร เป็นเส้นใย ไหมพรม และชิ้นผ้า สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยบริษัทใช้ประโยชน์จากขยะจากเปลือกและก้านกล้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการทิ้งให้ย่อยสลายตามธรรมชาติกว่า 270 ล้านตันต่อปี รวมถึงการนำขยะจากภาคการเกษตรอื่น ๆ มาพัฒนาให้เป็นวัสดุที่ยั่งยืนได้ต่อไป
2) บริษัท Mater Design สัญชาติเดนมาร์ก ร่วมมือกับบริษัทยา Novo Nordisk ในการพัฒนาและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เช่น เก้าอี้รุ่น Mask Stool ที่ทำมาจากเศษธัญพืชที่เหลือจากการหมักเบียร์ผสมกับพลาสติกที่รีไซเคิลมาจากปากกาอินซูลิน และกำลังศึกษาหาวัสดุใหม่ ๆ โดยวิธีการที่คล้ายคลึงกัน
3) นาง Lina Bellovicova สถาปนิกจากสาธารณรัฐเช็ก ได้สร้างบ้านจากวัสดุ “hempcrete” ซึ่งทำจากลำต้นของกัญชงมาสับให้ละเอียดและผสมกับปูนขาว วัสดุที่เกิดขึ้นใหม่มีคุณสมบัติเป็นวัสดุฉนวนกันความร้อนที่สามารถระบายอากาศได้ มีประสิทธิภาพทนความร้อนสูง จึงช่วยให้สร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ปราศจากสารเคมีและความชื้นอีกด้วย
สถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีของยุโรป (European Institute of Innovation and Technology (EIT)) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยในยุโรป ได้รายงานว่า หากอียูสามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเพื่อปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ได้ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในยุโรปได้ถึง 296 ล้านตันต่อปี
สุดท้ายนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับภาครัฐและเอกชน ในการปรับตัวเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ซึ่งสหภาพยุโรปเห็นว่าจำเป็นที่ต้องดำเนินนโยบายดิจิทัลและนโยบายสีเขียวควบคู่กันไป ตลอดจนการสร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้การพัฒนาด้านดิจิทัลที่ทันสมัยนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือนำไปสู่ผลอันไม่พึงปรารถนาเช่น เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ.