'ย้ายประเทศกันเถอะ' สะท้อนวิกฤติ 'จริง' หรือแค่ ‘วาทกรรม’
'ดีอีเอส' ออกมาจับตามองในประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องมองโดยปราศจากอคติ
ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียลเรื่อง "การย้ายออกจากประเทศไทย" มีผู้สร้าง Close group ขึ้นในเฟซบุ๊คที่ปัจจุบันมีผู้คนเข้าร่วมแล้วเกิน 7 แสนราย และปัจจุบันกรุ๊ปได้เปลี่ยนชื่อเป็นชื่ออื่น แต่ “คอนเทนท์” หรือ “เนื้อหา” ใจความสำคัญที่ยังพูดคุยกัน ยังเป็นวิธีการทำเอกสารย้ายประเทศ อาชีพใดเป็นที่ต้องการ หรือ การทำธุรกิจหางานอย่างถูกกฎหมาย
ต่อมา "ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรุ๊ป "ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ขณะนี้ว่า กระทรวงดีอีเอสได้รับการร้องเรียนถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว โดยผู้ร้องเรียน ระบุว่า มีเนื้อหาสร้างความแตกแยกสร้างความเกลียดชัง และยังมีการแสดงความคิดเห็นเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า เท่าที่ติดตามเบื้องต้นพบเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงแนะแนวการศึกษา และแนะนำแนวทางประกอบอาชีพในต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี และหน่วยงานภาครัฐเองก็มีการให้ข้อมูล และให้การสนับสนุนผู้ที่มีความพร้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว ทั้งในแง่การไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพที่มี กระทรวงแรงงาน เป็นผู้กำกับดูแล
ดังนั้น หากเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษาหรืออาชีพในต่างประเทศ รัฐบาลคงไม่ปิดกั้น เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีความเป็นห่วงในบางข้อความที่ไม่เหมาะสม อาทิ การแนะนำวิธีลักลอบเข้าเมือง หรือการอาศัยอยู่เกินกำหนดอย่างผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่าโดดวีซ่า ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และอาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการพิจารณาให้วีซ่าคนไทยของประเทศปลายทางในอนาคตด้วย
ที่สำคัญยังเป็นห่วงว่า กลุ่มดังกล่าวอาจเป็นช่องทางของขบวนการมิจฉาชีพที่ใช้สังคมออนไลน์หลอกลวงให้มีการไปทำงานต่างประเทศที่ระบาดอย่างหนักในระยะหลัง โดยทราบจากสถิติของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ว่าช่วงปี 2561-2563 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศแล้วมากกว่า 1,500 เรื่อง ดังนั้นผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ไม่หลงเชื่อขบวนการเหล่านี้
การที่กระทรวงดีอีเอสออกมารับลูกในประเด็นนี้ก็สมควรแล้วในแง่ที่ต้องเฝ้าระวังจับตามอง แต่ต้องมองโดยปราศจากอคติ ควรเข้าไปวิเคราะห์ถึงปัญหาที่แท้จริง ที่มีการพูดคุยอย่างกว้างขวาง โอกาสการทำงานที่ได้ค่าตอบแทนที่จูงใจ เพราะแรงงานคนหนุ่มสาว อยากจะหนีไปจากแผ่นดินจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่วาทะกรรมที่ถูกโยงขึ้นเพื่อประชดประชันการทำงานของรัฐบาลแค่นั้น
สุดท้ายแล้วจะดีกว่าไหม หากเราจะมาวิเคราะห์จับทางให้ได้ว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวเหล่านี้ เขาต้องการอะไร และระดับผู้นำประเทศสามารถสร้างนโยบายอะไรได้บ้าง เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงที่สังคมตั้งคำถามขึ้น เพราะแรงงานรุ่นใหม่ปัจจุบัน มีสกิลด้านดิจิทัลกันพอสมควรแล้ว
ดังนั้น การที่รัฐหมายมั่นปั้นมือให้ “ไทย” เป็นฮับดิจิทัลในภูมิภาค มีการออกวีซ่าหรือใบอนุญาตการทำงานเพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศ จะมีประโยชน์อันใดเล่า เมื่อมองย้อนกลับมา เราอาจไม่เหลือคนหนุ่มสาวไฟแรงที่เต็มไปด้วยความรู้ความสามารถเป็นกลไกสำคัญสร้างสมดุลย์ร่วมขับเคลื่อน ในเมื่อรัฐยังไม่สามารถสร้างนโยบาย หรือแรงจูงใจให้พวกเขาอยากนำพาประเทศตัวเองก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง