แนวโน้มระบบธนาคารไทย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่
การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบใหม่ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนปี 2564 ที่ผ่านมามีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าการระบาดในช่วงเดือนธ.ค
เนื่องจากความรุนแรงของการระบาดที่สูง ส่งผลให้มีการเพิ่มมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด คล้ายคลึงกับช่วงเดือนเมษายนของปี 2563 ซึ่งช่วงเวลานั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีการหดตัวกว่า 12.1 %
การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าส่งผลให้รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการดำเนินธุรกิจในระบบธนาคารพาณิชย์ ทั้งด้านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีการปรับตัวลดลง ประกอบกับทิศทางเงินฝากและเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไป นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งแรกช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน ทั้งแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อและเงินฝากรวมถึงทิศทางคุณภาพสินเชื่อ
ด้านสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2563 ถือว่ามีการเติบโตที่ดี โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 5.1% จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักของการเติบโตมาจากยอดสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีการระดมทุนผ่านทางธนาคารพาณิชย์ทดแทนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ที่ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีความผันผวนสูงในช่วงปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 นี้ ความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาคธุรกิจได้มีการกลับมาระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้อีกครั้ง ภายหลังจากที่ตลาดตราสารหนี้มีการฟื้นตัวและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีการปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมแนวโน้มความต้องการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ลดลง ร่วมกับผลของความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดเล็กและบุคคลธรรมดาอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน จึงทำให้ในภาพรวม สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่ระดับ 2-3% โดยเบื้องต้นแล้ว ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปี 2564 แสดงให้เห็นการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ซึ่งได้มีการเติบโตเพียง 0.55% จากช่วงสิ้นปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางความต้องการสินเชื่อที่อยู่ในระดับต่ำ
สำหรับทิศทางของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2564 มีทิศทางเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ที่ได้มีการเติบโตของเงินฝากในระดับสูงกว่า 11% โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเงินฝากในปี 2563 คือปริมาณเงินสดที่ได้จากการขายสินทรัพย์ประเภทหุ้นและพันธบัตร ที่มีปริมาณสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนมีนาคม ประกอบกับ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การบริโภคมีอัตราลดลง ทำให้ประชาชนและธุรกิจมีเงินฝากเพิ่มมากขึ้น
การระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่นี้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลง และส่งผลต่อเนื่องทำให้ปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์มีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณการขายสินทรัพย์ในตลาดทุนอาจอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้การเติบโตของปริมาณเงินฝากในปีนี้มีแนวโน้มเติบโต จากปัจจัยด้านการบริโภคที่ลดลงเป็นสำคัญ โดยมีแนวโน้มเติบโตระดับปานกลางที่ 4-6% เท่านั้น
สำหรับแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แม้จะมีการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบอย่างหนักอีกครั้งต่อกลุ่มธุรกิจ SMEs และแรงงานในภาคธุรกิจบริการ ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มบุคคลและธุรกิจเหล่านี้ลดลง จึงทำให้แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงปรับตัวเพิ่มต่อเนื่อง โดยข้อมูลเบื้องต้นของยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แสดงให้เห็นทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยมียอดรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม ปี 2564 อยู่ที่ 4.68 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 8 พันล้านบาทจากช่วงสิ้นเดือนธันวาคม ปี 2563
โดยสรุป การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ มีแนวโน้มส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีการดำเนินงานในทิศทางต่อเนื่องจากปี 2563 ทั้งด้านการเติบโตของสินเชื่อและเงินฝาก โดยสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในรูปแบบใดที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่นี้