สร้างคน

สร้างคน

ทำไมประเทศนี้อยากสร้างขีดขั้นความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก แต่สิ่งที่ผู้บริหารประเทศทำคือให้ความสำคัญกับ การสร้างถาวรวัตถุ ที่ลงทุนมหาศาล

             ขอตั้งคำถามว่าเราลืมอะไรไปหรือเปล่า ที่เป็นสุดยอดในการพัฒนาแผ่นดินเกิด นั่นคือการสร้าง "คน" ในชาติให้มีความแข็งแรงทางความคิด มีทักษะและขีดขั้นความสามารถที่คนของเราลงสนามในเวทีโลกอย่างไม่น้อยหน้าใคร ผมยังไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลไหนเลย ถาวรวัตถุเป็นเพียงสิ่งของ ถ้าขาดคนที่มีคุณภาพ สิ่งของเหล่านั้นไม่สามารถทำให้เราเดินไปไหนได้ไกลหรอกครับ

                ลองคิดเล่นๆ อย่างนี้ ถ้าคนมี computer ที่ดีที่สุดอยู่ในมือ แต่คนไม่มีความสามารถ ความชาญฉลาดที่จะใช้เครื่องมือสุดวิเศษนั้น ก็เท่ากับว่าคนคนนั้นถือ "ก้อนหิน" ไว้ในมือ ผมไม่ได้บอกว่าการพัฒนาประเทศด้วยการสร้างถาวรวัตถุไม่สำคัญ ไม่ใช่ครับ ผมต้องการสื่อสารว่าการพัฒนาประเทศต้องทำควบคู่กันทั้ง “การสร้างคน” และพัฒนาถาวรวัตถุ มันเป็น dual track system และการสร้างคนมีความสำคัญที่มากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าประเทศเรามีของเลอเลิศทางถาวรวัตถุ แต่ “คน” ขาดความพร้อม สิ่งที่ประเทศลงทุนกับ infrastructure มันสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

                    ลีกวนยูเคยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ From third world to first เมื่อเขานำประเทศ Singapore แยกตัวออกมาจาก Malaysia รัฐบาลของเขามีประชาชนแค่กระหยิบมือเดียว เขาเรียกประเทศเขาตอนนั้นว่าเป็น Backwater country เป็นประเทศที่อยู่หลังเขา ลีกวนยูตั้งเป้าหมายว่าเขาจะสร้าง Singapore ให้เป็นประเทศที่อยู่ใน top tier rank ของโลก

                  สิ่งที่เขาทำคือ "สร้างคน" ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ เขาบอกว่าเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว คนในประเทศเขายังยืนทำธุระส่วนตัวข้างถนน เขาสร้างกระบวนการทุกอย่าง ทุ่มทรัพยากรสร้างให้ "ประชาชน" มีความแข็งแรงผ่านระบบการศึกษาและกระบวนการอื่น ๆ ที่รัฐสร้างเป็นนโยบายในการพัฒนาคน ห้าสิบปีผ่านไปด้วยประชากรห้าล้านคน Singapore กลายเป็น financial & commercial hub ในภูมิภาคนี้ บริษัทข้ามชาติเลือกที่จะไปตั้ง regional office ที่ Singapore เพราะคนของเขามีความพร้อม และเป็น skillful human resource

                   พวกเขาใช้เวลาเพียงห้าสิบกว่าปีที่ใช้คนสร้างประเทศให้ยืนที่ top of the world ส่วนเรายังเดินเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ด้วยความที่ขาดความชัดเจนในเรื่องการสร้างและพัฒนาคนให้เป็นระบบ อะไรคือกลไกสำคัญในการสร้างคน เริ่มต้นจากระบบการศึกษาที่ต้องทุบระบบเก่าทิ้ง แล้วเริ่มต้นทำใหม่ ผมไม่เชื่อว่าการทำ minor change ของระบบการศึกษาคือคำตอบของการแก้ปัญหา เพราะโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปอย่างที่ระบบการศึกษาเก่าไม่มีทางที่จะวิ่งตามทัน ต้องทุบทิ้ง แล้ว set zero สร้างระบบใหม่ขึ้นมา

                   มีคนเคยเล่าให้ผมฟังว่า Singapore ตอนที่ออกแบบระบบการศึกษา พวกเขาใช้คนสองกลุ่มมาเขียนพิมพ์เขียวระบบการศึกษา หนึ่งคือผู้คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษา สองคือ system engineer เพราะ system engineer มีวิธีคิดที่เป็นองค์รวมที่สามารถ integrate ทุกอย่างให้เป็นหนึ่งได้

                 การที่ประเทศเราจะออกจากการติดหล่มคนที่มาบริหารใหม่ต้องเข้าใจบริบทของโลกที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เป้าหมายคือต้องให้  “คน” ของเราเก่งในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่เก่งแต่ใน “ห้องเรียน”

               ถามว่าเพราะอะไร ผมมีความเห็นว่าห้องเรียนเป็น close boundary ในขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงเป็น open boundary ห้องเรียนมีคำตอบที่ถูกเพียง “ข้อเดียว” ในขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงคำตอบทุกข้อเป็นคำตอบที่ถูกได้ ถ้าคุณมีเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมคำตอบนั้นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ประเด็นคือทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าคุณมี logical support ที่ make sense ห้องเรียนกับโลกแห่งความเป็นจริงจึงเป็นสิ่งที่มีความแตกต่างกันมหาศาล

                ปัญหาใหญ่ที่ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไม่ได้ ถ้าให้ผมเดามาจากผู้บริหารการศึกษาที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำตัวเป็น "ไม้ขวางถนน" ทำให้ประเทศเราวนอยู่ในอ่างกะละมัง ทราบไหมครับงบประมาณของกระทรวงศึกษาของประเทศมีมูลค่าสูงมาก แต่ขาดการบริหารจัดการที่ทันกับยุค digital ทำให้คนไทย "ติดกับดัก"

              พูดตรงไปตรงมาปัญหาเรื่องการศึกษาของบ้านเราเกิดจาก "การบริหารจัดการโดย old school thinker” ถึงเวลาแล้วที่ประเทศนี้ต้องรื้อระบบการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน นำนักการศึกษาหัวก้าวหน้าพร้อมคนนอกที่มีไฟอยากช่วยประเทศเข้ามาเขียน "แผนแม่บท" ระบบการศึกษาสำหรับทศวรรษ 21 อะไรคือเป้าหมายของระบบการศึกษาใหม่ หัวใจคือสร้าง "ปัญญา" สอนให้คนเรียนมี "วิธีคิด" ของตัวเอง เพราะปัญญาทำให้ "คนคิดเป็น" ไม่ใช่ตะบี้ตะบันเรียนหนังสือเพื่อ "จำ" องค์ความรู้ ความล้มเหลวของระบบการศึกษาเก่าคือ "ยัดเยียด" ความรู้จนล้นสมอง คนเรียนขาดวิธีคิด นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้

                 เพื่อนผมซึ่งเป็นอาจารย์ในระบบการศึกษาให้ความเห็นที่ดีมากว่า การจะรื้อระบบการศึกษาเขายกตัวอย่างสองข้อว่า ประการแรกเราต้อง recruit ให้คนเก่งคนมีความสามารถมายึดอาชีพ “ครู” พร้อมปรับผลประโยชน์ตอบแทนของอาชีพครูเป็นเครื่องมือจูงใจให้คนเก่งมาเดินบนเส้นทางนี้ ประการที่สองเขาให้ความเห็นว่าการประเมินผลว่า “ครู” จะเก่งหรือไม่เก่ง ไม่ได้อยู่ที่ทำ research paper ดีเด่นขนาดไหน วิธีวัดผลคือดูจาก output ของครู นั่นคือลูกศิษย์ของครูแต่ละคนเมื่ออยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง คนเหล่านั้นฝีมือแน่ขนาดไหน นี่คือเครื่องมือวัดผลที่สะท้อนความเป็นจริงของอาชีพ “ครู”

                 อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือระบบการศึกษาต้องสอดแทรกเครื่องมือกระตุ้นให้ผู้คนรู้จักสร้างกระบวนการ “พัฒนาตัวเองตลอดชีวิต” เพราะโลกทุกวันนี้สิ่งที่คุณเรียนไป ไม่กี่ปีจะล้าสมัย เพราะเราอยู่ใน disruptive world ประเด็นคือเป็นโลกที่ dynamic ไม่ใช่ static world เหมือนกับยี่สิบปีที่แล้ว และ self development process คือสิ่งที่ขาดหายไปในประเทศนี้ทำให้ระบบของการสร้างคนของเรามีช่องโหว่อย่างเห็นได้ชัด

                 ขอยกอย่างของตัวเองเพื่อสาธิตว่า self development process มีความสำคัญอย่างไร ผมเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาของประเทศนี้ ไม่เคยเรียนต่างประเทศ จบปริญญาตรีเป็นวิศวกร แต่ค้นพบว่าไม่ชอบอาชีพนี้ จากนั้นผมพัฒนาตัวเองจากจุดศูนย์ เริ่มต้นใหม่ เปลี่ยนเป็นคนโฆษณา นักการตลาด จนสุดท้ายค้นพบว่า my best quality คือเป็น business strategist ผมเดินทางมาถึงวันนี้ได้ด้วย “self taught process” เรียนรู้ด้วยตัวเอง สะสมทุกวัน ทำตลอดชีวิต ค้นหาวัตถุดิบชั้นเลิศมาขัดเกลาตัวเองให้เป็นเนื้อแท้ตาม DNA ที่คุณพ่อและคุณแม่ให้มาตั้งแต่เกิด

                  ผมขอให้ความเห็นเรื่องการสร้างคนใน corporate world ว่าเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ความแข็งแรงขององค์กรไม่ดีเท่าที่ควร ผมสังเกตเห็นปรากฏการณ์อันหนึ่งที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ ผู้บริหารขององค์กรยินดีที่จะลงทุนสร้างโรงงานเป็นหลักพันล้านบาท กล้าทุ่มทุนหลักหลายร้อยล้านบาท เพื่อสร้าง IT technology ที่ทำให้องค์กรก้าวทันโลกยุคใหม่

                   แต่ถ้ามีข้อเสนอให้ลงทุนในกระบวนการพัฒนา “คน” มูลค่าสิบล้านบาท ข้อเสนอนั้นจะถูกเก็บไว้ในลิ้นชักทันที แล้วองค์กรจะเดินหน้าด้วยอะไรครับ “คน” คือทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด แต่ในมุมกลับองค์กรส่วนใหญ่จะกระมิดกระเมี้ยนที่จะลงทุนกับ “people development program” แล้วองค์กรจะเดินทางไปที่ดาวอังคารได้หรือ

                ตัวอย่างหนึ่งที่จะสื่อสารเรื่องนี้คือ Netflix องค์กรที่เมื่อยี่สิบปีที่แล้วไม่ได้อยู่ใน radar ของโลกธุรกิจเลย จุดหักเหเกิดขึ้นจากการที่ Reed Hasting ที่เป็น CEO มีความทะเยอทะยานต้องการสร้าง streaming service เพราะเขามองเห็นในสิ่งที่คู่แข่งมองข้าม เขามีความเห็นว่านี่คือ business of the future เขาร่วมกับ Patty McCord ซึ่งเป็น Chief Talent Officer สร้างนโยบายเรื่อง “คน” ที่มีความแตกต่างอย่างจับต้องได้ ออกแบบวัฒนธรรมที่มีความพิเศษเพี่อให้ Netflix เป็นสังคมแห่งความเป็นเลิศ

               ทำให้ภายในเวลาไม่นาน Netflix กลายเป็น poster child ของวงการบันเทิงที่วันนี้มีมูลค่า 239,000 ล้านเหรียญ ประเด็นที่ผมต้องการสื่อสารเรื่องของ Netflix ความสำเร็จของพวกเขาเกิดจาก power of people ถ้าผู้อ่านอยากทราบความพิเศษของคนของ Netflix ผมแนะนำให้ไปอ่านหนังสือชื่อ Powerful ที่แต่งโดย Patty McCord

             สร้างคนแล้วคนจะไปสร้างประเทศ คนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรงครับ.