ทางรถไฟจีน-เวียงจันทน์ ประตูเศรษฐกิจภาคอีสาน
ส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มาสู่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศสปป.ลาว ที่จะเปิดให้บริการในเดือนธ.ค.นี้
เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมระหว่างเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มาสู่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศสปป.ลาว ที่จะเปิดให้บริการในเดือนธ.ค.นี้ ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสปป.ลาวแล้ว ประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังได้รับอานิสงค์ประโยชน์อย่างมากมาย เพราะเส้นทางรถไฟสายนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นรถไฟความเร็วสูงที่เน้นในการขนส่งผู้โดยสาร แต่ยังเป็นระบบรถไฟทางคู่สำหรับขนส่งสินค้าที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ที่มาจ่อหน้าประตูบ้านของไทย
โดย เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญที่ในภาคอีสานที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ จ.อุดรธานี ที่อยู่ห่างจากเวียงจันทน์เพียง 60 กิโลเมตร โดย พิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า เส้นทางรถไฟสายนี้จะช่วยลดระยะทางและเวลาการขนส่งไปได้มาก จากเดิมที่ต้องขนส่งไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และใช้เวลา 15-17 วัน ไปยังเมืองท่าอย่างฮ่องกง หรือเมืองเซินเจิ้น และต้องขนส่งทางบกอีก 1,700 กม. กว่าจะถึงมณฑลยูนนาน แต่เส้นทางรถไฟสายนี้จะใช้เวลาเพียง 1 วัน และลดค่าขนส่งได้มากกว่า 5 เท่าตัว สามารถเจาะตลาดประชากรในยูนนานและมณฑลจีนตอนใต้ได้กว่า 100 ล้านคน และยังกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของจีนได้ง่าย
จากต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ลดลงไปมาก ประกอบกับประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอาหารแปรรูป และการเกษตรชั้นนำที่ผู้บริโภคชาวจีน ได้ให้ความเชื่อมั่นในสินค้าจากไทยสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของภาคอีสานไปสู่ตลาดขนาดใหญ่ และมีความได้เปรียบเหนือกว่าประเทศอื่น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจากจีนให้ความสนใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตโดยใช้ความเชื่อมั่นจากตราสินค้า “Made in Thailand” เพื่อส่งสินค้าเข้าไปสู่จีนเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะหากผู้ประกอบการไทยนิ่งนอนใจไม่รีบเข้ามาฉวยโอกาสนี้ ปล่อยให้นักลงทุนจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตจนเต็มพื้นที่เกษตรสำคัญในภาคอีสาน ก็จะเกิดการผูกขาดสินค้าเกษตรกับเจ้าของโรงงาน หรือผู้นำเข้าจากจีนเพียงฝ่ายเดียวทำให้คนไทยแทบจะไม่ได้อะไร นอกจากขายผลผลิตราคาถูกให้คนจีนไปทำตลาดเพิ่มมูลค่าเอง
นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ภาคอีสาน โดยใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ในการออกแบบสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้คนไทยเข้าไปลงทุน เพื่อฉวยโอกาสจากรถไฟความเร็วสูงจากเวียงจันทน์ไปจีนก่อน ทั้งในเรื่องสิทธิประโยชน์การลงทุนอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนไทยสูงสุด เพื่อรองรับการลงทุนและนักท่องเที่ยวจากจีนที่จะเข้ามาเป็นจำนวนมาก การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร และโลจิสติกส์สินค้าผ่านแดน และในอนาคตจะต้องเตรียมพื้นที่ในภาคอีสาน เพื่อรองรับประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะขยายไปจนถึง จ.หนองคายเชื่อมต่อที่เวียงจันทน์ ทั้งพื้นที่อุตสาหกรรม และธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งทั้งการสร้างเส้นทางรถไฟ และการวางแผนเติบโตของภาคธุรกิจจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน
หากรัฐบาล และเอกชนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ภาคอีสานเปลี่ยนโฉมหน้าจากภูมิภาคที่มียากจนรายได้ต่ำไปสู่พื้นที่ที่มีรายได้สูง