ทฤษฎีการทูตนวัตกรรม-Innovation Diplomacy
Innovation Diplomacy หรือ “การทูตนวัตกรรม” เป็นแนวคิดที่ต่อเนื่องมาจากแนวคิด Science Diplomacy หรือ “การทูตวิทยาศาสตร์”
ซึ่งประชาคมด้านวิทยาศาสตร์และกลุ่มผู้บริหารนโยบายของประเทศต่างๆ ได้ยอมรับว่า เป็นโครงสร้างที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของโลกได้อย่างมีประสิทธิผลโดยใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศสร้างให้เกิดกิจกรรม ความร่วมมือ และการทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์ในทุกประเทศทั่วโลก
ด้วยความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกันระหว่างวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ทำให้มีการประยุกต์แนวคิดของ การทูตวิทยาศาสตร์ มาใช้เพื่อเร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้วยความร่วมมือในระดับนานาชาติให้มากขึ้น
แต่ปัญหาที่ทำให้ การทูตวิทยาศาสตร์ และ การทูตนวัตกรรม มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากก็เนื่องจากนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคุณค่าเชิงพาณิชย์ให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้นๆ การแบ่งปันผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากความร่วมมือกันสร้างนวัตกรรมระหว่างประเทศต่างๆ ยังไม่สามารถมีสูตรสำเร็จที่นำมาใช้ได้ว่าใครควรจะได้สัดส่วนความเป็นเจ้าของนวัตกรรม และความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด
ยกเว้นในกรณีของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งมีผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่น้อยกว่า หรือไม่ได้หวังผลตอบแทนเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีระดับความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับสูง ต่างก็เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาแนวคิด การทูตนวัตกรรม และพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือและกิจกรรมต่างๆ ที่จะนำไปสู่การใช้ การทูตนวัตกรรม ให้เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศต่างๆ ทั้งในด้านของนวัตกรรม และในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในปัจจุบัน แนวทางในการทำ การทูตนวัตกรรม จะให้ความสนใจกับกิจกรรมหลักในด้านต่างๆ เช่น
การจัดสรรเงินทุนหรือกองทุนนวัตกรรมในระดับนานาชาติ ที่เปิดโอกาสให้คนต่างชาติสามารถเข้ามาติดต่อขอสนับสนุนเงินทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคลทั่วไป ระดับองค์กรเอกชน องค์กรภาครัฐ หรือเป็นกองทุนในระดับชาติ ที่อาจมีโครงสร้างการเงินที่หลากหลาย เช่น เป็นการลงทุนเองโดยตรง หรือเป็นการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรสมาชิก
การดำเนินนโยบายการทูตนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยหรือการทำต้นแบบ จะเป็นการดึงดูดความทักษะและความสามารถพิเศษจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ทำให้ผู้สนใจหรือกลุ่มผู้สนใจในประเทศสามารถสังเกตหรือเรียนรู้วิธีการและกระบวนการสร้างนวัตกรรมจากตัวอย่างจริง
การส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ ข้อมูล และความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น การจัดประชุมหรือสัมมนานานาชาติ หรือการส่งบุคลากรของเราไปร่วมในการประชุมสัมมนาในต่างประเทศ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้นวัตกรจากประเทศต่างๆ มาเจอกัน สร้างความคุ้นเคย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ที่อาจนำไปสู่การสร้างเครือข่าย และการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต
การจัดทำนโยบายการทูตนวัตกรรมของประเทศอย่างเป็นกิจจะลักษณะหรือเป็นลายลักษณ์อักษร โดยรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความเข้มแข็งด้านนวัตกรรมให้กับประเทศ นโยบายรัฐที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะเป็นสื่ออย่างดีให้กับประเทศอื่นได้ศึกษาและเข้าใจระดับความเป็นนวัตกรรมของประเทศ และสร้างโอกาสในการร่วมมือกันด้านการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน
นอกจากนโยบายการทูตนวัตกรรมโดยตรง รัฐบาลอาจเริ่มต้นจากนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย นโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารไปยังประเทศต่างๆ ผ่านกระบวนการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
การสร้างความร่วมมือการทูตนวัตกรรมในระดับทวิภาคีหรือพหุภาคีในระดับภูมิภาค หรือในระหว่างประเทศที่มีระดับความเป็นนวัตกรรมที่ใกล้เคียงกัน หรือมีวัตถุประสงค์หลักร่วมกัน สร้างจุดเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือระหว่าง 2-3 ประเทศก่อน ซึ่งจะทำได้ง่ายกว่า ก่อนที่จะขยายความร่วมมือไปในระดับนานาประเทศ
จะเห็นได้ว่า แนวคิดของการทูตนวัตกรรม จะต้องเกิดจากความริเริ่มในระดับรัฐ ที่ต้องดำเนินการและเป็นผู้นำในการผลักดัน ส่วนองค์กรภาคเอกชนและภาคธุรกิจ ก็จะนำแนวคิดนี้มาดำเนินการได้ในลักษณะธุรกิจต่อธุรกิจ หรือการส่งบุคลากรของตนเข้าไปร่วมสร้างสัมพันธ์ในเวทีนวัตกรรมในระดับนานาชาติ รวมถึงการผนวกภาคการศึกษาหรืออุดมศึกษาที่ให้ความสนใจกับการประยุกต์องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับประเทศ
สำหรับประเทศไทย การดำเนินการด้านการทูตนวัตกรรม เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ติดตาม แนวคิด กลยุทธ์ แผนงาน และผลการดำเนินงานได้จากเว็บไซต์ www.nia.or.th/diplomacy