คลื่นแรงงานย้ายถิ่น กับการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น

คลื่นแรงงานย้ายถิ่น กับการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น

วิเคราะห์เจาะลึกศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น ว่าจะสามารถโอบอุ้มดูดซับคลื่นแรงงานย้ายถิ่น ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ปี 63 นี้ได้หรือไม่

เจาะลึกการย้ายถิ่นของประชากรปี 63 ในช่วงวิกฤตโควิด 19 นำเสนอศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นว่าจะสามารถโอบอุ้มดูดซับแรงงาน และใช้จังหวะนี้เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืนในโลกนิวนอร์มัลได้หรือไม่อย่างไร

เจาะลึกการย้ายถิ่นของประชากรปี 63: กลับถิ่นแยกกันเพื่อรอดและพึ่งพิงฐานเกษตร

ผลสำรวจการย้ายถิ่นประชากรทั้งประเทศ ในปี 63 คนไทยกว่า 68 ล้านคน มีผู้ย้ายถิ่น 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 60% จากปี 62 ที่มีจำนวน 6.6 แสนคน โดย กทม. ครองแชมป์เมืองที่มีคนย้ายทั้งเข้า-ออกสูงสุด โดยรูปแบบการย้ายถิ่น ปี 63 มีทิศทางคล้ายคลึงกับปี 62 แต่มีจำนวนคนย้ายถิ่นมากกว่า 

จากมุมมองย้ายถิ่นขาออก พบว่า คนย้ายออกจาก กทม. 127,344 คน เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ชลบุรี 55,906 คน เชียงใหม่ 50,702 คน ภูเก็ต 42,427 คน และระยอง 41,325 ตามลำดับ รวมกันถึง 3.2 แสนคน เพราะเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งงาน แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จากมุมมองการย้ายถิ่นขาเข้า จังหวัดที่มีคนย้ายถิ่นเข้าสูงสุด คือ กทม. รองลงมาคือ ปทุมธานี เชียงใหม่ โคราช และสมุทรปราการ หากเราจำแนกสูงสุดในแต่ละภาค คือ กทม. 84,375 คน เชียงใหม่ 52,344 คน นครราชสีมา 40,758 คน และนครศรีธรรมราช 35,821 คน นอกนั้นกระจายไปตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นผลจากการปิดสถานประกอบการจากมาตรการล๊อกดาวน์ครั้งแรกและครั้งที่สองในปี 63 แรงงานกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก คือแรงงานที่ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร ต่างพากันกลับบ้านเกิดไปตั้งหลักพึ่งพิงฐานเกษตร ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในเมืองได้ต่อไป

สอดคล้องกับผลสำรวจด้านอาชีพผู้ย้ายถิ่น กลุ่มใหญ่สุดคือ กลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะปานกลางและต่ำ คือ อาชีพงานบริการ 2.8 แสนคน และอาชีพพื้นฐาน 1.8 แสนคน (44 % ของคนย้ายถิ่นทั้งหมด) ส่วนใหญ่จบการศึกษา ม. 6 และ ปวช. 2.7 แสนคน (27%) และน่าจะเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งประชากรย้ายถิ่นมากกว่า 65 % มีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน

ด้านโครงสร้างตลาดแรงงานไทยจากมุมมองด้านอายุและการศึกษา พบว่า กลุ่มประชากรที่ย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัด กลุ่มใหญ่สุดคือ แรงงานเยาวชนอายุ 15-24 ปี ประมาณ 3.2 แสนคน (31%) ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในธุรกิจบริการทั้งโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร และค้าปลีก มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ

162186331712

ศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นและความสามารถด้านการจ้างงานเป็นอย่างไร?

จากรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 62 ประเมินการพัฒนาด้านคนรายจังหวัด ในหลากหลายด้าน เช่น ด้านสุขภาพที่ดี ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านรายได้ และด้านการคมนาคมและสื่อสาร พบว่าคะแนนเต็ม 1.0 ไทยเราได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6219 ถือว่ามีศักยภาพค่อนข้างดี และได้คะแนนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมากที่สุด จังหวัดที่มีความก้าวหน้าสูงสุดคือ นนทบุรี กทม. ปทุมธานี ภูเก็ต และระยอง น้อยสุดคือ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ และบุรีรัมย์

อัตราการว่างงานรายจังหวัดปี 63 ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีด้านชีวิตการงาน พบว่า ปัญหาการว่างงานสูงขึ้นเกือบทุกจังหวัด จาก 1.0 %ในปี 62 (3.7 แสนคน) เป็น 1.9% ในปี 63 (7.3 แสนคน) นับเป็นความท้าทายของชุมชนท้องถิ่น ในการเตรียมพร้อมรองรับแรงงานย้ายถิ่นขนาดใหญ่ครั้งนี้ สำหรับ ชุมชนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะเผชิญกับความผันผวนของราคาและปัญหาภัยแล้งจะไม่สามารถเป็นหลังอิงให้กับแรงงานคืนถิ่นได้ ตรงกันข้ามกับชุมชนที่มีฐานเข้มแข็ง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ ป่าได้ดี และมีฐานการเงินของชุมชนที่เข้มแข็ง แรงงานคืนถิ่นจะช่วยเพิ่มแรงงานสร้างความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจได้

162186328432

ท้องถิ่นควรใช้จุดแข็งที่มีและสร้างนวัตกรรมให้ชุมชนเข้มแข็งในโลกนิวนอร์มัล

ท้องถิ่นควรคว้าโอกาสนี้เร่งพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง โดยใช้งบพัฒนาที่ภาครัฐส่งให้ภายใต้โครงการช่วยเหลือลดผลกระทบวิกฤตโควิด 19 ปรับโครงสร้างพัฒนาท้องถิ่น สร้างงานในระยะสั้นรองรับแรงงานย้ายคืนถิ่น ขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาศักยภาพเมืองในระยะยาว เช่น การลงทุนด้านสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและอาชีพโดยชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาทักษะและสร้างอาชีพแก่แรงงาน รวมถึงการพัฒนาระบบสวัสดิการแรงงาน

โดยต่อยอดกับ ทุนเดิมด้านการเกษตร ทุนทางปัญญา ทุนวัฒนธรรมและประเพณี ทุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน และแหล่งท่องเที่ยวและสินค้าเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่ได้วางพื้นฐานไว้แล้วกว่า 10 ปี คือ มีรูปแบบเป็น “พัฒนาเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ทั้งกลุ่ม 10 เมืองหลัก และ 20 เมือง

ตัวอย่าง เช่น ชัยนาท เมืองเมล็ดพันธ์ข้าว เชียงราย เมืองพัฒนาดอยตุง เชียงใหม่ เมืองหัตถกรรมสร้างสรรค์ น่าน เมืองเก่ามีชีวิต ยะลา ศูนย์กลางเศรษฐกิจนก มหาสารคาม เมืองแห่งการเรียนรู้สู่การพัฒนาชุมชน และขอนแก่น เมืองอัจฉริยะและภูมิปัญญาผ้าไหม โดยให้เป็นไปตามทิศทางที่ระบุไว้แล้วในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาและบริหารจัดการตัวเองได้ รวมทั้งเป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ธุรกิจ และภาครัฐที่มีขนาดเล็กลง ทันสมัย และโปร่งใส จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้ และเชื่อว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ

 “In the midst of every crisis lies great opportunity

Albert Einstein

บทความโดย ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย, น.ส.พาทินธิดา สัจจานิจการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

162186382677