การใช้บล็อกเชนในงานภาษี

การใช้บล็อกเชนในงานภาษี

ผู้เขียนจะเล่าถึงการใช้งาน บล็อกเชน กับงานที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มให้การยอมรับและนำมาปรับใช้มากขึ้น รวมทั้งไทยเรา

ความพิเศษของบล็อกเชน

        บล็อกเชน คือ ระบบจัดการข้อมูลในลักษณะการกระจายข้อมูล (decentralized) ไปยังทุก Nodes บนเครือข่าย (peer-to-peer) โดยระบบจะตั้งเงื่อนไขให้การจัดเก็บข้อมูลที่ป้อนเข้าไปใหม่ในแต่ละครั้งผ่านกลไกการทำงานของ Smart Contract และเมื่อข้อมูลนั้นได้ถูกบันทึกไว้แล้ว จะไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ (Immutability)

      โดยทุก Nodes ในระบบจะถือชุดข้อมูลแบบเดียวกัน ซึ่งหากมีการเพิ่มเติมหรือทำธุรกรรมใหม่ในแต่ละครั้ง ข้อมูลจะถูก update ไปยังทุก Nodes ในระบบ (distributed leger) ซึ่งเท่ากับว่าทุกคนจะมี copy ของข้อมูลนั้นเหมือน ๆ กัน ซึ่งเป็นการสะท้อนหลักความโปร่งใสของการทำงานบนโครงข่ายบล็อกเชนที่มีลักษณะเป็นการสร้าง Trust protocol ให้กับคู่สัญญาทุกฝ่ายในระบบ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการทำงานของเอกสารในอดีต ก็อาจกล่าวได้ว่าการทำงานของธุรกรรมบท บล็อกเชน เป็นการลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงเอกสารและการบิดเบือนถ้อยคำในข้อตกลงหรือข้อสัญญาต่าง ๆ

 

        จุดอ่อนของงานภาษี

        งานภาษีมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ กล่าวคือ สำหรับผู้เสียภาษี หนึ่งในปัญหาหลัก คือ เนื้อหาที่ละเอียดและซับซ้อนของกฎหมายภาษี ซึ่งลักษณะเฉพาะของกฎหมายภาษีทั่วโลกคือ การบัญญัติเนื้อหาของกฎหมาย

ไว้หลายลำดับชั้น กล่าวคือ นอกจากจะมีการกำหนดเนื้อหาไว้ในกฎหมายแม่บทแล้ว ภาครัฐยังนิยมใช้กลไกของกฎหมายลำดับรอง (เช่น พ.ร.ฎ. กฎกระทรวง ประกาศ) เพื่อบัญญัติเนื้อหาบางประการในทางปฏิบัติไว้

           ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีความซับซ้อน สำหรับภาครัฐการตรวจสอบและติดตามเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องของผู้เสียภาษีจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาษีทางอ้อมหรือภาษีฐานบริโภค (Indirect and Consumption Tax) และภาษีที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าและธุรกรรมระหว่างประเทศ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีศุลกากร เป็นต้น

 

         บล็อกเชน ช่วยได้อย่างไร

         สำหรับภาษีทางอ้อมและภาษีศุลกากร ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ในทางปฏิบัติ จะมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลและเอกสารจำนวนมาก เช่น การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านำเข้าและส่งออกจำเป็นต้องมีเอกสารที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของสินค้า เอกสารที่ระบุส่วนประกอบ การใช้งาน และการชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงเอกสารเพื่อขอคืนภาษีในรายการต่าง ๆ (เช่น VAT Refund) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลจำเป็นต่อการประเมิณและตรวจสอบภาษีของภาครัฐ

         ดังนั้น หากนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อการบันทึกและเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ของผู้เสียภาษีในข้างต้น
ย่อมช่วยให้ข้อมูลเหล่าถูกบันทึกไว้ในลักษณะที่ “ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ซึ่งจะเป็นข้อดีกับผู้เสียภาษีเองในการคำนวนภาษีในอนาคต และในขณะเดียวกันก็สร้างระบบข้อมูลแบบ “Real-time” ให้กับภาครัฐในการติดตาม ตรวจสอบ และลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารในทางภาษีได้ (เช่น การออกใบกำกับภาษีปลอม)

           นอกจากนี้ การใช้บล็อกเชนในการจัดการดังกล่าวจะเกิดการรวมข้อมูลของภาครัฐและเอกชนเข้าไว้ด้วยกันซึ่งจะเกิดผลดีในเชิงตรวจสอบ (Post-Audit) และอาจส่งผลดีต่อการปรับตัวของภาครัฐในการเตรียมพร้อมในการศึกษาเพื่อทำนโยบาย
ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับ ตรวจสอบ และจัดเก็บเงินได้ที่เกิดจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มักใช้บล็อกเชนเป็นโครงข่ายพื้นฐาน

         ตัวอย่างในต่างประเทศ

        นับตั้งแต่ปี 2560  จีน เป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ประกาศการทดลองใช้บล็อกเชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและป้องกันการเลี่ยงภาษีของภาคธุรกิจ ในการนี้ จีนได้เริ่มทดลองโดยสรรพากรเมืองเซิ่นเจิ้นได้ทำโครงการความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่าง Tencent ในการนำระบบ e-Billing หรือ การออกใบเสร็จบนระบบบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งสามารถใช้ได้กับการชำระค่าบริการขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้า โดยผู้ใช้บริการสามารถขอ Tax invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์บนแพลตฟอร์มบล็อกเชนของ Tencent ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งภาครัฐมีโครงการที่จะใช้แทนที่กระดาษที่เคยมีในระบบทั้งหมด

        นอกจากนี้ สหภาพยุโรปที่ครั้งหนึ่งประสบปัญหาการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Fraud) ของธุรกรรมระหว่างประเทศในภูมิภาค ก็ได้มีการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการปรับใช้บล็อกเชนเพื่อเป็นโครงข่ายพื้นฐานในการป้องกันและตรวจสอบการทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการเลี่ยงภาษีในสหภาพยุโรป

 

         บล็อกเชนและงานภาษีในไทย

         การใช้บล็อกเชนในไทยก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2563 กรมสรรพากร กรมศุลกากร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้นำบล็อกเชนมาใช้เพื่อให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ หรือที่เรียกว่า “Thailand VRT”  ต่อมา เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 30) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำ ส่ง รับ และเก็บรักษา ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์บนระบบโครงข่ายบล็อกเชน ที่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการที่ผ่านการทดสอบนวัตกรรมใน Tax Sandbox และที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี เป็นผู้ให้บริการระบบโครงข่ายบล็อกเชนโดยสามารถดำเนินการ จัดทำ ส่ง รับ และเก็บรักษาใบกำกับภาษี/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ (รายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามประกาศฉบับดังกล่าว)

        ดังนั้น ในทางกฎหมาย ผู้ให้บริการที่ได้รับอนุมัติย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักการที่เกี่ยวข้องกับวงจรเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัด เช่น การเก็บและบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน โดยสามารถรักษาข้อความดังกล่าวไว้ได้เช่นเดียวกับขณะแรกสร้าง และระบบต้องสามารถแสดงข้อความเหล่านั้นได้ในภายหลังอย่างถูกต้อง

           นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ การนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้กับกรมสรรพากรจะต้องมี
การลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) บนข้อมูลดังกล่าว และต้องจัดให้มีความมั่นคงปลอดภัยตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศสำหรับผู้ให้บริการจัดทำส่งมอบและเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (ขมธอ. 21-2562) ด้วย

           ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า การใช้บล็อกเชนในงานภาษีจะมีประโยชน์กับทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประสิทธิผล
ที่จะเกิดขึ้นนั้น ย่อมมีคุณค่าต่อเศรษฐกิจในอนาคต 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน