เรื่องที่ทุกคนควรได้อ่าน/เรียนรู้ - จิตวิทยา

เรื่องที่ทุกคนควรได้อ่าน/เรียนรู้ - จิตวิทยา

เรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจคือเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต ที่เราทุกคนควรได้เรียนรู้เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น

 

แต่เราเรียนรู้กันในเรื่องสุขภาพใจน้อยมาก เพราะการศึกษาในสถาบันมักไปเน้นวิชาการวิชาชีพเพื่อทำมาหากินมากกว่าที่จะสอนให้คนเรียนรู้จักเรื่องชีวิตของตนเอง เรื่องสุขศึกษามีสอนนิดหน่อยในระดับประถม แต่ยังไม่ดีพอ เรื่องจิตวิทยาแทบไม่มีเลย ครูเองก็อ่อน ไม่ได้ช่วยแนะนำเด็กในเรื่องนี้

นักปราชญ์ เช่น พระพุทธเจ้า อริสโตเติล นักปรัชญาสำนักสโตอิก ฯลฯ ได้ ศึกษา/เสนอแนะความรู้เรื่องความคิด จิตใจ อารมณ์ ความฉลาดและพฤติกรรมของมนุษย์มาหลายพันปีแล้ว แต่เป็นการคิดแบบคาดคะเนและเป็นการคิดในเชิงปรัชญามากกว่า วิชาวิชาจิตวิทยาสมัยใหม่ การศึกษาแบบสังเกตการณ์ทดลอง เก็บรวบรวมแยกแยะข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีการพัฒนาในรอบ 200 ปีหลัง

Wilhelm Wundt (1832 - 1920) ชาวเยอรมัน เริ่มสร้างห้องทดลองเพื่อการศึกษาทางจิตวิทยา  เสนอว่าการศึกษาเรื่องความคิดจิตใจมนุษย์ ควรแยกเป็นสาขาวิชาต่างหาก คือควรจะศึกษาแบบใช้หลักฐานพยานเชิงประจักษ์  ในการพิสูจน์มากกว่าวิชาปรัชญา และควรจะเน้นการศึกษาเรื่องความคิดจิตใจมากกว่าวิชาสรีรวิทยาที่เน้นการศึกษาเรื่องกลไกการทำงานของอวัยวะต่างๆ

Wiliam James (1842 - 1910) แพทย์/นักปรัชญาชาวอเมริกัน เขียนหนังสือเรื่อง "หลักการวิชาจิตวิทยา" (Principles of Psychology) เสนอว่า ความคิดจิตใจของคนเรา ทั้งความหวัง ความรัก ความปรารถนา ความกลัว ฯลฯ ล้วนอยู่ในสมองของเรา ที่เราควรวิจัยและพิสูจน์ได้ เขาเขียนหนังสือเรื่องประสบการ์ณทางด้านศาสนาของมนุษย์  มองว่าเป็นการตอบสนองความต้องการทางด้านอารมณ์ของมนุษย์เป็นสำคัญ

ซิกมุนด์  ฟรอยด์ (1856 - 1939) แพทย์ประสาทวิทยา ชาวออสเตรีย สนใจศึกษาถึงอิทธิพลของจิตใต้สำนึกต่อพฤติกรรมของมนุษย์ จากการสังเกตคนไข้ การตีความ และการพิจารณาใคร่ครวญด้วยตนเอง ฟรอยด์เสนอทฤษฎีการเก็บกดและจิตใต้สำนึกในเรื่องเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมยุคนั้นถือเป็นเรื่องต้องห้าม หนังสือของฟรอยด์ซึ่งท้าทายวัฒนธรรมเก่าได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง คนหลายคนสนใจศึกษาจิตวิทยา เพราะได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือของฟรอยด์

แม้สิ่งที่ฟรอยด์เสนอหลายอย่างจะถูกวิจัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในภายหลัง และพบว่าหลายอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่แนวคิดว่าเรื่องจิตใต้สำนึกมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ รวมทั้งวิธีการบำบัดคนไข้สุขภาพจิตแบบที่จิตแพทย์นั่งพูดคุยกับคนไข้ ให้คนไข้ได้ระบายความคิดความเข้าใจของเขาออกมาเพื่อหาความเข้าใจและทางออกร่วมกัน เป็นวิธีการบำบัดที่ก้าวหน้ากว่ายุคก่อนหน้าฟรอยด์

คาร์ล จุง (1875 - 1961) อัลเฟรด แอดเลอร์ (1870 - 1930) แยกตัวมาคัดค้านฟรอยด์ในแง่ที่ว่าฟรอยด์เน้นเรื่องจิตใต้สำนึกเก็บกดเรื่องเพศมากไป แต่พวกเขาเห็นด้วยในแง่ที่ว่าจิตใต้สำนึกเรื่องอื่นๆ เช่น จิตสำนึกรวมหมู่ ความทรงจำและแบบแผนทางจิตใจที่สมาชิกของวัฒนธรรมหนึ่งมีร่วมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากวิวัฒนาการของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม (คาร์ล จุง) และจิตใต้สำนึกในการมุ่งสร้างสิ่งที่ดีขึ้นเพื่อชดเชยสิ่งที่เป็นที่ต้องการ ขาดแคลนตั้งแต่วัยเด็ก (แอดเลอร์) มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์

นักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยม ในทศวรรษ 1950 เสนอให้พิจารณาความเป็นคนทั้งหมด ไม่ใช่แค่บุคลิกภาพหรือส่วนที่มีบทบาทในการเรียนรู้เป็นส่วนๆ Abraham Maslow (1908 - 1970) เสนอเรื่องมนุษย์เรามีความต้องการจำเป็นหลายขั้น ตั้งแต่ขั้นต่ำสุดคือความต้องการทางร่างกาย ไปถึงขั้นสูงสุดขั้นที่ 5 คือ มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ด้วยตนเอง ซึ่งเขาเห็นว่าจะทำให้คนมีสุขภาพจิตที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์และช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้น

Carl Rogers (1902 - 1987) เสนอให้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมมนุษย์ให้เรียนรู้จักตนเอง เห็นความสำคัญของตัวเอง และร่วมแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เขาเป็นผู้เริ่มการบำบัดทางจิตแบบให้ถือคนไข้เป็นศูนย์กลาง

ขณะที่ Fritz Pearl มีส่วนร่วมพัฒนาการบำบัดทางจิตแบบองค์รวม (Gestalt Therapy) มองว่าสมองของมนุษย์เราไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับข้อมูลจากสิ่งกระตุ้นภายนอกอย่างเงียบๆ แต่เป็นผู้จัดแจงวางโครงสร้างข้อมูลทั้งหมดเพื่อจะตีความหมายออกมา

จิตวิทยาแนวศึกษาการรู้คิด (Cognitive) ของมนุษย์มองว่าความคิดจิตใจของมนุษย์คือการประมวลการรับรู้ข้อมูลและเครื่องแปลที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างแบบแผนและการรับรู้ต่อโลกที่อยู่ภายนอกมนุษย์เรา เป็นผู้กำหนดแผนที่ของความจริงตามที่เราแต่ละคนรับรู้

จิตแพทย์แนว Cognitive ใช้วิธีการบำบัดคนมีปัญหาทางจิตใจ โดยใช้แนวคิดว่า ความคิด (Thoughts) ของคนเราเป็นตัวกำหนดอารมณ์ (Emotions) ของเรา ไม่ใช่ในทางกลับกัน ถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิดของเรา เช่น การคิดในทางบวกอย่างสมจริง การคิดในทางสร้างสรรค์ เราจะสามารถลดปัญหาความซึมเศร้า หรือสามารถควบคุมพฤติกรรมของเราได้ดียิ่งขึ้น

จิตวิทยาแนวบวก (Positive Psychology) เสนอว่า ทั้งความคิดและอารมณ์ต่างมีอิทธิพลต่อกันและกัน พยายามเปลี่ยนทิศทางของจิตวิทยาซึ่งที่ผ่านมาเน้นแต่เรื่องการรักษาปัญหาความป่วยไข้ทางจิต มาศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรทำให้คนมีความสุข มองโลกในแง่ดีและมีความคิดสร้างสรรค์ในทางบวก มีหนังสือแนวนี้ออกมาหลายเล่ม เป็นหนังสือที่มีประโยชน์สำหรับโลกปัจจุบัน  ที่การพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม มีการเอาเปรียบ สร้างความเหลือมล้ำ ความยากจน ขณะเดียวกัน ก็เน้นการแข่งขันแบบตัวใครตัวมัน เน้นการหาเงิน การบริโภค  ทำให้ผู้คน ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ถึงผู้ใหญ่ มีปัญหาความวิตกกังวล ความเครียดมากขึ้น แต่คนที่ฉลาดหาหนังสือดีๆอ่านจะช่วยตนเองได้มาก

สำนักจิตวิทยาวิพากษ์ (Critical Psychology) โดยนักจิตวิทยากลุ่มก้าวหน้าเยอรมนี ในทศวรรษ 1970 เห็นว่าการศึกษาวิชาจิตวิทยาที่จะเข้าใจชีวิตและสังคมได้อย่างแท้จริง ต้องศึกษาปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ที่มีผลกระทบต่อความคิด จิตใจของคนอย่างมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม คือต้องมองไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่ระบบสังคมหรือสภาพแวดล้อมทั้งหมดด้วย ไม่ใช่มุ่งเปลี่ยนแปลงที่ความคิดจิตใจของปัจเจกชนด้านเดียว จิตวิทยาสังคมเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่พัฒนาต่อจากจิตวิทยาที่จะช่วยให้เราเข้าใจความคิด จิตใจ อารมณ์ ของผู้คนในสังคม รวมทั้งเรื่องการเมือง ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจิตวิทยาสังคมในแนวก้าวหน้า สายมาร์กซิสต์หรือโพสต์มาร์กซิสต์  จิตวิทยาเพื่อการปลดปล่อย(liberation psychology)

จิตวิทยาแขนงย่อยๆต่างๆที่เป็นประโยชน์ที่ทุกคนน่าจะหาอ่าน/เรียนรู้ เช่นจิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาวัยรุ่น (ผมเคยทำออกมาเล่มหนึ่งหลายปีที่แล้ว)จิตวิทยาผู้ใหญ่และผู้สูงวัย จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาของคนที่มีปัญหาความผิดปกติด้านอารมณ์/การนึกคิดประเภทต่างๆ  ปัญหาการเสพติดเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน เรื่องเพศและความรุนแรง ที่มักจะเริ่มและเกิดได้ง่ายในวัยรุ่นก็เป็นปัญหาทางจิตวิทยาและจิตวิทยาสังคมส่วนหนึ่ง  ที่ถ้าพลเมืองในสังคมไทยมีความรู้เรื่องนี้กันมากขึ้น ก็น่าจะช่วยกันหาทางป้องกัน และช่วยกันสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้น น่าอยู่มากขึ้นได้.

(วิทยากร เชียงกูล. 14 หลักคิด พัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศ. ไทยควอลิตี้บุคส์, 2562)