ความขัดแย้งที่ยากคลี่คลายระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ
การนั่งจับเข่าคุยกันระหว่าง Vladimir Putin กับ Joe Biden ที่นคร Geneva สวิตเซอร์แลนด์เมื่อ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับความสนใจพอควร
เพราะระดับเจ้าพ่ออันดับ 1 และ 2 ของโลกมาเจอกัน แต่ถ้าบอกถึงความคาดหวังว่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นแทบไม่มีใครคิด เพราะผู้บริหารประเทศทั้งสองฝ่ายไม่เพียงแต่แตกต่างกันในหลักการ แต่กำลังทำสงครามมืดระหว่างกันและแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลในเส้นทางต่างๆ อีกหลายมิติ เอาแค่ยอมรับเรื่องบางอย่างกันให้ได้ เช่น ยังคงไม่ละเมิดข้อตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ หรือ ร่วมมือปราบปรามกลุ่ม ISIS ก็น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ไม่ถึงกับตึงเครียดจนเกินไป
การพบปะระดับสุดยอดผู้นำของสองชาตินี้มิใช่เรื่องใหม่ คุยกันมา 7 หนแล้วนับตั้งแต่ที่โซเวียตล่มสลาย และรัสเซียกลายเป็นผู้สืบมรดกของอดีตเจ้าโลกคอมมิวนิสต์ผู้สาบสูญ ขณะที่ฝ่ายอเมริกาเปลี่ยนผู้นำไปเรื่อง ปูตินก็ยืนพื้นคุยกับทั้ง George W. Bush และ Donald Trump มาแล้ว ขณะที่หุ่นเชิดของเขาคือ Dmitry Medvedev ก็ได้คุยกับ Barack Obama ทั้งยังเซ็นสัญญาลงนามข้อตกลงจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างกัน (New START) เมื่อตอนที่เจอกัน 8 เม.ย.53 ที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็คด้วย แต่การคุยกับไบเดนคราวนี้อยู่ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติเลวร้ายถึงขีดสุดจริงๆ
เลวร้ายขนาดไหน เอาแค่เรื่องสงครามมืดก่อน สมัยก่อนยังไม่มีโลกไซเบอร์ รัสเซียกับอเมริกาก็กระทำจารกรรมกันเป็นว่าเล่นอยู่แล้ว จับจารชนได้ก็ติดคุกกันไป ขับนักการทูตตอบโต้กันไป ล่าสุดสหรัฐ ฯ จับสายลับหญิงของรัสเซียชื่อ Maria Butina ที่พยายามเข้าไปบ่อนทำลายองค์กรด้านอาวุธปืนที่ทรงอิทธิพลต่อความคิดของคนรีพับลิกันอเมริกัน พึ่งปล่อยกลับรัสเซียเมื่อปี 2562 นี้เอง
หรืออย่างเคสที่เจ้าหน้าที่อเมริกันโมโหมากที่สุดในเวลานี้ก็คือการที่รัสเซียแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ เมื่อปี 2559 จนถึงขั้นทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง สังเกตได้ว่าในยุคทรัมป์ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำค่อนข้างดี ทรัมป์ไม่ค่อยมีปากเสียงด่าว่ารัสเซีย เทียบกับการโจมตีจีนแล้วคนละฟ้ากับเหว อย่างไรก็ตาม คนในสังกัดหน่วยงานราชการของสหรัฐ ฯ ต่างมีความหลังฝังใจกับพวกรัสเซียมาตั้งแต่ยุคโซเวียต พวกเขาไม่เปลี่ยนความคิดง่าย ๆ ตอนนี้ทรัมป์จากไปแล้ว พวกเขาจึงได้โอกาสเอ๊กเซอร์ไซส์มากขึ้น
สงครามไซเบอร์เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำกัน การที่เป็นเรื่องใหม่ จับทางตามรอยยาก จึงยังไม่มีข้อตกลงลงนามข้อห้ามกันอย่างเป็นทางการ ต่างจากพวกสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ปืนเล็กหรือทุ่นระเบิด นับวันการสู้รบทางด้านนี้จะรุนแรงขึ้นเพราะห้ามอะไรกันไม่ได้ มีตั้งแต่ล้วงความลับ ส่งไวรัสโจมตีระบบของอีกฝ่าย บ่อนทำลายทางโซเชียล และอื่น ๆ อีกมาก ฝ่ายอเมริกันอ้างว่าตรวจพบแฮกเกอร์ในบัญชาของทำเนียบเครมลินบ่อยครั้ง แม้แต่บริษัทผลิตแอนตี้ไวรัสก็เป็นตัวเผยแพร่ไวรัสเสียเอง การที่ปฏิบัติการทางไซเบอร์เป็นสิ่งไร้มนุษยธรรม เล่นงานพลเรือนก็กล้าทำ จึงเป็นตัวแปรที่ทำให้ชาติที่เป็นปฏิปักษ์กันอยู่แล้ว มีแผลล้ำลึกกันขึ้นไปอีก
ถ้าจะลิสท์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันคงยาวเป็นหางว่าว แค่ความขัดแย้งตรงที่ต่างเข้าไปทำสงครามตัวแทนในที่ต่าง ๆ ก็เป็นปัญหาที่ยากแก้ไข ในตะวันออกกลางนั้นอเมริกาเขาถือเป็นเขตอิทธิพลของตนมานาน ทั้งประโยชน์ด้านน้ำมันและสกัดกั้นการก่อการร้าย แต่รัสเซียก็ถลำลงไปทุกทีจนถึงขั้นเข้าปกป้องรัฐบาลดามัสกัสจากกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ ทำให้กองทัพสหรัฐ ฯ กับรัสเซียเกือบเปิดศึกกันบนสมรภูมิซีเรีย
ในยุโรป ปัญหาก็ไม่มีลด เพราะรัฐบาลวอชิงตันเป็นแกนหลักของนาโต้ในการต่อต้านอิทธิพลของรัสเซียอย่างไม่ลดราวาศอก การคงฐานทัพไว้ในเยอรมนีและอิตาลีและพยายามติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในโปแลนด์และเช็ก ทำให้รัสเซียไม่พอใจมาก ทางสหรัฐ ฯ ก็ไม่พอใจที่รัฐบาลมอสโคว์พยายามบีบบังคับเพื่อนบ้านให้คล้อยตามตน โดยเฉพาะศึกในยูเครนตะวันออกที่ยังไม่จบไม่สิ้นมาตั้งเกือบสิบปีแล้ว
ปัญหาที่เกี่ยวกับยูเครน อดีตส่วนหนึ่งของโซเวียตที่ทุกวันนี้กลายมาเป็นศัตรูกับรัฐบาลมอสโคว์ นั้นมีเรื่องที่เกี่ยวพันกับไบเดนด้วย จนทำให้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐ ฯ อาจถูกมองว่าเป็นศัตรูกับรัสเซียด้วยเรื่องส่วนตัว กล่าวคือ ลูกชายท่านผู้เฒ่าชอบไปทำงานที่เทา ๆ กับบริษัทใหญ่หลายแห่ง ล่าสุดก็คือบริษัทในยูเครนจนโดนคดีถูกสอบสวน ทำท่าจะติดคุกเอา เรื่องนี้โดยฝ่ายทรัมป์ออกมาโจมตีโดยอ้างว่าไบเดนผู้พ่อโทร.คุยกับประธานาธิบดียูเครนขอให้ไล่อัยการคดีนี้ออก เมื่อปี 2562 เรื่องนี้ใหญ่ขนาดทรัมป์สั่งชะลอเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมูลค่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐไว้ก่อนทีเดียว ต่อมาฝ่ายที่เข้าข้างไบเดนก็กล่าวหาว่ารัสเซียเกี่ยวข้องกับการปลอมหลักฐานปรักปรำไบเดน
สิ่งที่อเมริกาต้องการจากรัสเซียมากที่สุดในเวลานี้ ไม่ใช่การเลิกละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการลดความสัมพันธ์ทางทหารและการเมืองกับจีน ขณะที่ความร่วมมือของพันธมิตรโลกเสรีกำลังเป็นรูปเป็นร่างโอบล้อมมังกรแดง ก็ดูเหมือนจะบีบในทางอ้อมให้รัฐบาลปักกิ่งกับมอสโคว์กระชับความแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น สหรัฐ ฯ กำลังเดินหน้าเข้าสู่จุดที่อาจจะเป็นการต่อสู้เบ็ดเสร็จกับจีน จึงไม่อยากเปิดแนวรบที่สองกับชาติที่แข็งแกร่งพอๆ กับจีนในอีกซีกโลกหนึ่ง.