เปิดประเทศ

เปิดประเทศ

การ 'เปิดประเทศ' ในความเห็นของผมประเด็นที่สำคัญไม่ใช่ 'เมื่อไหร่' 100 วัน 120 วันหรือ 150 วัน แต่ต้องให้คำตอบกับประชาชนว่าจะต้องทำอย่างไร

การเปิดประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและการใช้ชีวิตของประชาชนกลับมาสู่ภาวะปกตินั้น ปัจจุบันนี้ดูเสมือนว่าคำตอบคือจะสามารถเปิดประเทศได้ภายใน 120 วันเพราะว่า ณ เวลานั้นจะสามารถฉีดวัคซีนได้ครบ 50 ล้านโดส ทำให้เชื่อได้ว่าคนไทยจะได้รับภูมิคุ้มกันหมู่ไปแล้ว แต่เราก็กำลังเห็นตัวอย่างของประเทศอังกฤษที่ต้องเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดออกไปอีก 1 เดือนเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 2,000 คนในกลางเดือนพฤษภาคมมาเป็นวันละ 10,000 คน สาเหตุเพราะโคโรน่าสายพันธุ์เดลต้า (จากอินเดีย) ซึ่งแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมคือสายพันธุ์อัลฟ่า (จากอังกฤษ) ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายในอังกฤษ ณ วันนี้

 

สำหรับประเทศไทยซึ่งมีประชากรจำนวนใกล้เคียงกับอังกฤษนั้นก็พบว่าสายพันธุ์เดลต้ากำลังแพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้พบสายพันธุ์เดลต้าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 10% แล้วและผู้เชี่ยวชาญของไทยก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่าสายพันธุ์เดลต้าจะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยได้ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้สายพันธุ์เดลต้าแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าประมาณ 40-60%

 

นอกจากนั้นวัคซีนหลักของไทยในอนาคตคือ AstraZeneca น่าจะสามารถคุ้มครองผู้ที่ฉีดครบ 2 โดสจากการติดเชื้อได้เพียง 60% นอกจากนั้นประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ เช่น ชิลีที่ใช้วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca จำนวนมากก็พบว่าจำนวนผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับสูงแม้ว่าได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนคิดเป็นสัดส่วน 63% ของประชากรไปแล้ว

 

ตัวเลขของชีลีในรายละเอียดนั้นสรุปได้ดังนี้

1.ฉีดวัคซีนไปแล้ว 21.4 ล้านโดสเทียบกับประชากร 19.3 ล้านคน

2.สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1  โดสเท่ากับ 63% ของประชากรทั้งหมด

3.ผู้ติดเชื้อและรักษาหายแล้ว 1.5 ล้านคนหรือ 7.8% ของประชากรทั้งหมด

4.ดังนั้นในหลักการแล้วชิลีควรมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วเพราะประชากรที่มีภูมิคุ้มกันน่าจะอยู่ที่ 63+7.8= 70.8% ของประชากร

5.แต่ปรากฏว่ายังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,489 คนต่อวันในช่วงเฉลี่ย 7 วันถึงวันที่ 22 มิถุนายนและผู้เสียชีวิต 118 คนในวันเดียวกัน

6.ชิลีมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็น Active case รวม 37,301 คน เฉลี่ย 7 วันถึงวันที่ 22 มิถุนายน มากกว่าไทยที่ 35,386 คน

 

ผมเห็นด้วยว่าการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายและทั่วถึงนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิตของประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัคซีนเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะในกรณีของประเทศอังกฤษนั้นก็ได้ฉีดวัคซีนไปให้ประชาชนแล้วกว่า 68 ล้านโดส โดยเร่งฉีดวันละ 5 แสนโดสมาตั้งแต่ต้นปีนี้จนมีจำนวนประชาชนเหลือให้ฉีดลดน้อยลง ปัจจุบันจึงฉีดเพียง 3 แสนกว่าโดสต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ประเทศไทยกำลังทำอยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้นอังกฤษยังได้สั่งวัคซีนมาสำรองเอาไว้แล้วมากกว่า 500 ล้านโดส โดยเลือกใช้หลายยี่ห้อเพราะคงรู้ดีว่าน่าจะต้องฉีดโดสที่ 3 หรืออาจต้องฉีด Booster shot ทุกปีก็เป็นไปได้

 

แต่ประเด็นที่ยังต้องมีคำตอบในการจะเปิดประเทศและการ “อยู่กับโควิด” คือจะต้องตอบให้ได้ว่าการอยู่กับโควิดนั้นหมายความว่าอย่างไรในทางปฏิบัติ เช่น การอยู่กับโควิดแปลว่าประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่วันละไม่เกิน 300 คนทั่วประเทศและสำหรับจังหวัดขนาดเล็กไม่เกิน 10 คนต่อวันและสำหรับจังหวัดใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานครไม่เกิน 60 คนต่อวัน ทั้งนี้ย่อมหมายความว่าคนไทยจะต้องยอมให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดวันละประมาณ 3-4 คน

 

การมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 200-300 คนอย่างเป็นปกตินั้นน่าจะหมายความว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อ (active cases) 3,000 คนและผู้ที่ป่วยหนักประมาณ 150-200 คน แปลว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยจะต้องมีศักยภาพในการรองรับภารกิจดังกล่าวเป็นภาวะปกติ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีศักยภาพสำรองอีก (สมมุติว่า) 100% เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ กล่าวคือระบบสาธารณสุขจะต้องสามารถรองรับ active cases ได้ 6,000 คนและผู้ป่วยหนัก 600 คน เป็นต้น

 

หมายความว่าความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ย่อมจะสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นที่สำคัญไม่น้อยกว่าศักยภาพในการรักษาผู้ติดเชื้อคือ การตรวจคัดกรอง (Test) เพื่อรับรู้การติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งตรงนี้น่าจะหมายถึงการตรวจเชื้ออย่างกว้างขวางและบ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติเกือบเหมือนกับการแปรงฟันทุกวัน เป็นต้น โดยเฉพาะบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ทำงานในภาคขนส่งสาธารณะ ครู นักเรียน คนงานในแคมป์ก่อสร้างและพนักงานในโรงงานอาจจะต้องตรวจคัดกรองแบบ Rapid Test เป็นประจำแบบวันเว้นวัน (ซึ่ง Test Kit จะต้องมีใช้อย่างแพร่หลายในราคาถูกหรือแจกฟรี) และหากพบผู้ติดเชื้อก็จะต้องรีบทำ PCR Test  ตามเพื่อยืนยันและควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว

 

เมื่อพบต้นตอการระบาดแล้วการแยกผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องรีบทำอย่างรวดเร็วและเป็นระบบที่ประชาชนจะต้องรู้หน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเอง ที่สำคัญคือสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยก็ควรได้รับความช่วยเหลือโดยอัตโนมัติจากภาครัฐ เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือและการจัดหาเสบียงอาหาร หากต้องปิดโรงงานขนาดใหญ่ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่ใกล้เคียงได้รับผลกระทบไปด้วย ก็น่าจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและพนักงาน โดยภาครัฐช่วยจ่ายเงินเดือนของพนักงานเอสเอ็มอีดังกล่าวครึ่งหนึ่งในระหว่างที่โรงงานดังกล่าวต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อควบคุมการระบาดดังกล่าว เป็นต้น

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่สำคัญกว่าคือโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไรและประเทศไทยจะวางตัวอย่างไรในโลกดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีงานทำที่ให้ผลตดอบแทนสูงและมีความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมาขบคิดกันต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีประสิทธิผลครับ.