“ซีพีทีพีพี”จังหวะไม่ค่อยดี กำหนดท่าทีประเทศ
การกลับมาอีกครั้งของ “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)”
การกลับมาอีกครั้งของ “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)”
โดยเมื่อเร็วๆนี้ (22 มิ.ย.) มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.)ครั้งที่ 4 /2564 เพื่อพิจารณาผลการทำงานหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ศึกษาเงื่อนไข ข้อจำกัดและการปรับตัวจากข้อตกลงนี้ หากที่ประชุมมีมติในทางใดก็จะเสนอต่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นกำหนดกรอบเวลาดำเนินการตามที่ครม.มอบหมาย ก่อนนำเสนอที่ประชุมครม.ต่อไป
“ที่ประชุมมีการหารืออย่างรอบด้าน แต่จะตัดสินใจอย่างไรว่าจะเข้าร่วมเจรจาหรือไม่ เป็นเรื่องของครม. เพราะมีหลายเหตุปัจจัยที่ต้องพิจารณา”แหล่งข่าวจากที่ประชุมกนศ.กล่าว
การหารือเรื่องท่าทีไทยต่อซีพีทีพีพี มีขั้นตอนการทำงานหลายชั้น หลายวาระ และใช้เวลามายาวนาน หากมองอย่างตรงไปตรงมาก็คงเป็นไปเพืี่อความรอบคอบที่สุด แต่หากมองอีกด้านหนึ่งกำลังมีความพยายาม“ซื้อเวลา”หรือไม่
ทั้งนี้กรอบเวลาที่ครม.ให้กนศ.ส่งคำตอบว่าไทยควรร่วมเจรจาซีพีทีพีพีหรือไม่ ในช่วงนี้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดูจะไม่เหมาะเอาเสียเลยเพราะปัจจัยทางการเมืองของรัฐบาลถือว่ายืนอยู่บนปากเหวที่พร้อมร่วงลงได้ทุกเมื่อ จากเหตุผลการแก้ปัญหาโควิด-19 การจัดหาวัคซีน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ดูจะมีกำลังแรงขึ้น
“หากจะเพิ่มเรื่องร้อนอย่างซีพีทีพีพีเข้าไปอีกดูจะไม่สมควรแก่เวลาด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นก็ต้องจับตาดูว่า ท่าทีรัฐบาลจากนี้จะใช้มุกอะไรมาซื้อเวลาเพื่อผลักเผือกร้อนนี้ออกไปเรื่อยๆก่อน"
เมื่อเร็วๆนี้ในการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เรื่อง CPTPP กับสื่อมวลชน (CPTPP Media Focus Group) ครั้งที่1 จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยไม่ควรละทิ้งโอกาสที่จะเข้าร่วมการเจรจาข้อตกลงซีพีทีพีพี เพราะ กระบวนการเข้าร่วมเป็นภาคีข้อตกลงนี้ มีขั้นตอนดำเนินการหลายส่วน เริ่มตั้งแต่หากไทยสนใจเข้าร่วมซีพีทีพีพีต้องยื่นหนังสือขอเริ่มการเจรจาก่อน หลังการยื่นใบสมัครกรรมาธิการฯจะพิจารณาคำขอหากเห็นชอบก็จะจัดตั้งคณะทำงานเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกฯ เมื่อเจรจาแล้วเสร็จก็จะเสนอกลับมาที่กรรมาธิการซีพีทีพีพีเพื่อแจ้งผลการพิจารณาหากยินยอมรับเป็นสมาชิกประเทศผู้ขอก็จะดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศต่อไป
“ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นต้นที่ยังไม่ได้ยื่นใบสมัคร ซึ่งความเห็นของกรมเศรษฐกิจฯเราไม่ควรทิ้งโอกาสเพราะหน้าที่ของรัฐบาลต้องแสวงหา ค้นหาโอกาสของประเทศไทยในทุกๆโอกาส เพราะเรายังมีเวลาและขั้นตอนอีกหลายส่วนให้จะตัดสินใจได้อีกว่าจะรับข้อตกลงนี้หรือไม่”
“ถ้าจะอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก(GVC) ก็ต้องทำตามกติกาของโลก ซึ่งไทยอยู่ในRegional value chainsและหลังโควิดเงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรีจากนี้อาจมีกติกาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการแรงงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งซีพีทีพีพีได้กำหนดมาตรฐานต่างๆไว้แล้ว”อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าว
สำหรับเรื่องซีพีทีพีพีนี้ ในบริบทที่ขึ้นชื่อว่ารัฐบาล เป็นนักบริหาร ผู้นำและนักปกครองประเทศ ต้องมีความกล้าที่จะตัดสินใจเพราะเมื่อมีคำตอบสำหรับทุกคำถามแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อซีพีทีพีพีจึงไม่ใช่การผลัดวันประกันพุ่งไปเรื่อยๆ เพราะที่เสียไปตอนนี้ไม่ใช่เรื่องที่อ้างว่าเป็นผลประโยชน์ประเทศ เพราะการเจรจายังไม่เริ่ม แต่ที่เสียไปแล้วแน่ๆคือเวลานั่นเอง