SMEs จะพลิกฟื้นอย่างไร ภายใต้ภูมิทัศน์โลกใหม่การเงินสีเขียว
บทความนี้นำเสนอมุมมองระยะยาว แนวทางที่ SMEs ไทยจะรีเซ็ตและโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไรหลังโควิด 19 ภายใต้โลกการเงินสีเขียว (Green Finance)
‘Don’t let a good crisis go to waste’ เพื่อให้ไทยพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ new world landscape ได้อย่างมั่นคง” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
โลกการเงินสีเขียวก้าวไปถึงไหน?: ยุโรปตะวันตกเป็นผู้นำขบวน จีนและญี่ปุ่นพัฒนาดีขึ้นมาก
แม้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเกิดขึ้นทั่วโลกเมื่อ 50 ปีแล้ว แต่กระแสด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่งกลับมาได้รับความสนใจมากอีกครั้ง ล่าสุดในการประชุม Rio+20 ในปี 2555 เพื่อหาทางออกในระดับนานาชาติ นักวิชาการระบุว่า โลกอาจประสบปัญหาด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมาก หากยังนิ่งเฉยต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกใช้หลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของสังคม (UNESCAP, 2555) ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Accord) ขณะที่ผู้บริโภคและธุรกิจก็หันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยภาคการเงินมีส่วนสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนบริษัทเป็นธุรกิจ
สีเขียว ที่เน้นการลงทุนแบบยั่งยืน โดยสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending)
รายงานผลการสำรวจ Global Green Finance Index (GGFI 7) ปี 2564 ได้นำเสนอผลจัดอันดับศูนย์กลางการเงินด้านการเงินสีเขียวโลก (รูป 1) พบว่า มาตรฐานการเงินสีเขียวทั่วโลก ปรับดีขึ้นทั้งในเชิงความลึกและคุณภาพ ศูนย์กลางการเงินชั้นนำในยุโรปตะวันตกเป็นผู้นำกลุ่ม (ติดอันดับ TOP-10 อยู่ถึง 8 แห่ง จากทั้งหมด 78 ศูนย์การเงินทั่วโลก) และมีศูนย์การเงินจากฝั่งอเมริกาติดกลุ่ม Top-10 คือ ศูนย์การเงินในซานฟรานซิสโกและลอสแองเจลิส
ศูนย์กลางการเงินเมืองอัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) ติดอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ซูริค (สวิสเซอร์แลนด์) และลอนดอน (อังกฤษ) โดยพิจารณาจากความพร้อมทั้ง 4 ด้าน คือด้านความยั่งยืน ด้านธุรกิจ ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับฝั่งเอเชียจากกลุ่มประเทศ ASEAN+3 :โตเกียว (ญี่ปุ่น) ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ (จีน) และสิงคโปร์ ก้าวขึ้นมาติด Top-20 มีพัฒนาการการเงินสีเขียวดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่กรุงเทพฯ (ไทย) อยู่ลำดับที่ 49 ปรับดีขึ้นมากจากปีก่อน โดยสังเกตว่าจีนปรับตัวดีขึ้นมาก จากการที่ได้ยกปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็นวาระแห่งชาติและลงมือแก้ไขตามแผนอย่างหนัก
เหลียวมองโลก: บทเรียนจากสหภาพยุโรปและจีน
ทั้งสหภาพยุโรปและจีน มีกรอบกติกา แผนปฏิบัติการ และกรอบเวลา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินสีเขียวชัดเจน ได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างเป็นรูปธรรม กรณีสหภาพยุโรป 1) กำหนดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว ออกกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เชิงเทคนิคด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
2) กำหนดมาตรฐานพันธบัตร เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (EU Green Bond Standard) และมาตรฐานฉลากเขียว(ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนหันมาลงทุนในธุรกิจสีเขียว 3) พัฒนาเครื่องมือวัดเทียบสมรรถนะการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กรไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และ 4) กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน (ส่วนของต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม) เป็นต้น
สหภาพยุโรปและจีน ต่างตั้งเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Climate neutrality) ภายในปี 2593 และ 2603 ตามลำดับ โดยสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกที่กำหนดมาตรฐานหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียวและมาตรฐานพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่จีนกำหนดประเภทธุรกิจสีเขียวและแนวปฏิบัติระบบการเงินสีเขียวในปีที่ผ่านมา โดยกรอบกติกาและกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปและจีนสอดคล้องกับมาตรฐานหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond Principles: GBP) ของ ICMA ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จนถึงวันนี้การระดมทุนหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2563 จีนและสหภาพยุโรป มียอดระดมทุนหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่ถึง 33.3 พันล้านดอลลาร์และ 151.6 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ (รูป 2) และจีนยืนหนึ่งมีมูลค่าระดมทุนสูงสุดในเอเชีย
หันมองไทย: สินเชื่อสีเขียวกับโอกาสและความท้าทายของ SMEs
ตลาดทุนไทยใช้มาตรฐานหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของ ASEAN Green Bond Standards ซึ่งคล้ายคลึงกับมาตรฐานสากล สถาบันการเงินไทยเริ่มมีนโยบายและออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่อเนื่อง ทั้งด้านสินเชื่อสีเขียว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจพลังงานทดแทน และสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้านหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์บ้างแล้ว แต่การสนับสนุนด้านการเงินทั้งสินเชื่อและหุ้นกู้ยังจำกัดในวงแคบเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น มีสัดส่วนน้อยจากสินเชื่อทั้งหมด (รูป 3)
การค้าในโลกยุคใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจ SME ที่มีอยู่ถึง 3 ล้านราย(หรือ 99.5% ของวิสาหกิจทั้งหมด จ้างงาน 13 ล้านคน หรือ72% ของแรงงานในวิสาหกิจทั้งหมด) ไม่ปรับตัว อาจทำให้ธุรกิจไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากผู้บริโภค ธุรกิจ และอุตสาหกรรมยุคใหม่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด ผลศึกษาของ OECD นำเสนอว่า การพัฒนายกระดับ SME มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะทำให้ SME สามารถลดต้นทุน ผลประกอบการดีขึ้น และท้ายสุดจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมให้ดีขึ้น ชี้ว่าจะไปสู่จุดนั้นได้ SME ต้องปรับโครงสร้างทั้งระบบ 6 ด้าน คือ กฎระเบียบ การตลาด โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบการ และด้านความรู้ นวัตกรรม (รูป 4)
ฉบับหน้าคณะผู้เขียนจะศึกษาเจาะลึกถึง พัฒนาการสินเชื่อสีเขียวของไทย และความเห็น SME ไทยถึงปัญหา การปรับตัวและความช่วยเหลือที่ต้องการจากรัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและเดินไปด้วยกันสู่ “New world landscape”
บทความนี้ เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.
บทความโดย...
ดร. เสาวณี จันทะพงษ์
นางวรินธร ชัยวิวัธน์
ดร.ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์
นายธีรพัฒน์ เขื่อนปัญญา
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)