ฉันจึงมาหาความหมาย: Gen Z กับมหาวิทยาลัยไทย
Gen Z คือคนรุ่นดิจิทัลที่ในอนาคตจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของมหาวิทยาลัย เข้ามาพร้อมกับความคาดหวังใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ ใบปริญญา
บทความโดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Gen Z ถูกระบุว่าเป็นผู้ที่เกิดในช่วงประมาณ ค.ศ. 1997-2012 (พ.ศ. 2540-2557) ในยุคที่เทคโนโลยีได้ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทุกด้านของผู้คนอย่างสิ้นเชิง มหาวิทยาลัยไทยจะต้องขบคิดกันอย่างหนักว่า นี่คือคนที่ในอนาคตจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของมหาวิทยาลัย เข้ามาพร้อมกับความคาดหวังใหม่ๆ มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ และต้องการสมรรถนะในเรื่องใหม่ๆ เพื่อรับมือหรือใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนไป
หากมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับกับคนในรุ่นนี้ ความศรัทธาต่อมหาวิทยาลัยที่เคยมีมาในอดีตย่อมถูกลบเลือน นั่นเท่ากับมหาวิทยาลัยกำลังล้มเหลวและไม่อาจแสดงบทบาทการเป็นฟันเฟืองสำคัญผลักดันการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยไทยมีเวลาเตรียมตัวอีกไม่นานเลยนับจากนี้
มหาวิทยาลัย ซึ่งหมายถึงทุกองคาพยพ ต้องเปลี่ยน Mindset ในด้านการจัดการศึกษาเป็นเบื้องแรก ต้องเข้าใจว่าคน Gen Z จะมองมหาวิทยาลัยด้วยสายตาที่เคลือบแคลง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ทางที่ “ต้องเลือก” อีกแล้ว คำถามที่คนรุ่นนี้จะเริ่มถามคือ การเข้ามหาวิทยาลัยเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับการดำเนินชีวิตในระยะยาวหรือเปล่า คนรุ่นนี้จึงไม่ใช่ “ของตาย” สำหรับมหาวิทยาลัยอีกต่อไป โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่อดีตเคยเป็นที่หมายปองของนักเรียนมัธยม การเปลี่ยน Mindset ของคนไม่เคยง่าย โดยเฉพาะในภาคราชการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงต้องมีความกล้าหาญมากพอที่จะเปลี่ยน คัดเลือกคนที่พร้อมจะเปลี่ยน และปฏิเสธคนที่ไม่ยอมเปลี่ยน เพื่อให้มหาวิทยาลัยเดินหน้าได้
หลักสูตรต้องทำให้ทำมาหากินได้ในอนาคต นักเรียนไม่สนใจว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชน (หากไม่มีอิทธิพลของพ่อแม่เข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกที่เรียน) ตราบใดที่มีวิชาที่เป็นหลักประกันว่าเขาจะสามารถทำมาหากินได้
ผลโพลล์สำรวจนักเรียนมัธยมรุ่น Gen Z ในสหรัฐสะท้อนว่า นักเรียนส่วนใหญ่เชื่อว่าหลักสูตรที่เป็น hard skills ประเภท แพทย์ พยาบาล วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวะ คณิตศาสตร์ (STEM) จะช่วยให้เขาทำมาหากินได้ และนักเรียนอีกจำนวนมากพร้อมที่จะเปิดรับประสบการณ์ หรือเส้นทางชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในงานที่ดีขึ้น นักเรียนส่วนใหญ่ต้องการเรียนรู้จากการลงมือทำมากกว่าการนั่งฟัง จดเล็กเชอร์ แล้วท่องจำสิ่งที่จดมาเพื่อสอบอย่างยุคก่อน
ทุกเรื่องต้องดิจิทัล Gen Z ถือเป็นคนรุ่นดิจิทัล (digital natives) รุ่นแรกอย่างแท้จริง รุ่นนี้คล่องแคล่วว่องไวในการใช้เทคโนโลยีอย่างเหลือเชื่อและคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นดิจิทัลเพื่อตอบสนองเขาได้เช่นกัน เขาจะเบื่อหน่ายมากหากต้องเจอกับขั้นตอนและกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยที่เป็นอนาล็อก จึงไม่แปลกที่ในที่สุดทุกมหาวิทยาลัยจะมีโมบายแอพที่ง่ายต่อการใช้ ประเภทแอพเดียวรวมทุกเรื่อง ตั้งแต่หาข้อมูล ลงทะเบียน จ่ายเงิน ติดตามเรื่อง ร้องเรียน คุยกับผู้สอน ออกเกรด ไปจนถึงแจ้งจบและอนุมัติปริญญา หมดยุคระเบียบหยุมหยิม เอกสารมากมาย
เมื่อไรที่คน Gen Z รู้สึกว่ามหาวิทยาลัย “โบราณ” เมื่อนั้นศรัทธาจะหมดไป ความรู้สึกที่มีต่อมหาวิทยาลัยจะเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนนักเรียนกรอกใบสมัครด้วยซ้ำไป มหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างภาพลักษณ์และช่องทางการสื่อสารกับคนในรุ่นนี้ที่หนีไกลจากคำว่าโบราณ ทั้งนี้ รวมถึงวิธีการเรียนการสอนและตัวผู้สอน นักเรียนรุ่นนี้คาดหวังห้องเรียนที่ผสานเทคโนโลยีหลากหลาย ทั้งตำรา วิดีโอออนไลน์ เทคโนโลยี VR และ AR การใช้เกมส์และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อการเรียนรู้ แม้กระทั่งการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ข้ามมหาวิทยาลัยผ่านสื่อออนไลน์ทั้งหลาย
มหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึงความต่าง ความหลากหลาย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากเท่าไร ปัญหาความต่างและหลากหลายจะยิ่งมากเป็นเงาตามตัว ไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะมีพื้นเพ ความสามารถ ประสบการณ์ และทรัพยากรที่เท่ากัน มหาวิทยาลัยจึงต้องมีมาตรการที่ดีในการสนับสนุน คน Gen Z ยังเติบโตมาในยุคที่ยอมรับความหลากหลายในสังคม คนรุ่นก่อนในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ ต้องยอมรับความแตกต่างของ Gen Z ให้ได้ในเบื้องต้น ไม่อยู่กับอัตตาที่จะนำไปสู่อคติที่มักสร้างปัญหากับคนรุ่นนี้
นอกจากนี้ ความสะดวกของการเรียนออนไลน์และการติดต่อด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่แลกมาด้วยการขาดแคลนสัมผัสระหว่างกัน (human touch) การขาดการพบปะพูดจาแบบใกล้ชิด จะทำให้คนในรุ่นนี้เผชิญความเครียดมากกว่าคนในรุ่นก่อน ปัญหาสุขภาพจิตจึงเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยต้องตั้งรับให้ดี มีหน่วยงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ สร้างช่องทางการติดต่อที่กว้างขวาง มีกิจกรรมสนับสนุนและการบำบัดที่หลากหลาย เพื่อลดความเครียดให้ Gen Z และสร้างความรู้สึกว่าไม่ถูกทิ้งให้เผชิญชีวิตเพียงลำพังในรั้วมหาวิทยาลัย
ยังมีความท้าทายอีกมากมายจาก Gen Z ที่จะสร้างผลกระทบต่อการศึกษาที่จะได้พูดถึงในโอกาสต่อๆ ไป แต่วันนี้ มหาวิทยาลัยต้องพิจารณาและปรับตัวให้รับกับความคาดหวังใหม่ เพื่อก้าวไปสู่ความหมายใหม่ของมหาวิทยาลัย ที่สามารถตอบโจทย์คนรุ่น Gen Z และรุ่นต่อๆ ไป ไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยคงถูกด้อยค่าว่า ไม่ได้ให้อะไร นอกจากกระดาษแค่แผ่นเดียว.