วิกฤตโควิด-19:เราจะเลือกหนักไปหาเบา หรือ เบาไปหา(อาการ)หนัก

วิกฤตโควิด-19:เราจะเลือกหนักไปหาเบา หรือ เบาไปหา(อาการ)หนัก

คณะผู้เขียนตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลและงานวิจัย ที่เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกได้เคยใช้ในการรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด-19

คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยในขณะนี้ เข้าขั้นวิกฤต โดยในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยได้ก้าวทะลุ 9,000 คนต่อวัน และ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ก้าวทะลุ 70 คนต่อวันไปแล้ว คำถามสำคัญที่ทุกๆคนต้องการได้คำตอบอย่างเร่งด่วนคือ รัฐจะมีมาตรการในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนี้อย่างไร

ในบทความนี้คณะผู้เขียน มีความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวกับมาตรการต่างๆที่รัฐบาลทั่วโลกได้เคยใช้ในการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะทำให้เราเข้าใจว่าการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขั้นวิกฤตของประเทศไทยนั้น เราควรคำนึงถึงมาตรการใดบ้างและมีวิธีการเยียวยาอย่างไรบ้าง

“ล็อกดาวน์” แบบไหนถึงจะ “ล็อก” โควิด-19 ได้

มาตรการที่รัฐบาลในประเทศต่างๆนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมีอยู่หลายมาตรการและมีผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดแตกต่างกัน โดยอ้างอิงงานวิจัยของ Brauner และคณะ (2021) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำระดับโลกทางด้านวิทยาศาสตร์ และ Haug และ คณะ (2020) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Human Behavior ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำระดับโลกอีกวารสารหนึ่ง ซึ่งได้ศึกษาและเปรียบเทียบมาตรการต่างๆที่แต่ละประเทศทั่วโลกใช้ในการลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่ามาตรการที่เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม การห้ามรวมกลุ่มของประชาชนที่เข้มขัน (เช่น ห้ามรวมกลุ่มเกิน 10 คน) การควบคุมการเดินทาง การปิดสถานศึกษา การปิดชายแดน และ การปิดธุรกิจส่วนใหญ่ยกเว้นแต่ที่มีความจำเป็นจริงๆ ให้ผลต่อการควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมได้รวดเร็วที่สุดในหลายประเทศ

ทั้ง 2 งานวิจัยนี้เห็นตรงกันว่ามาตรการที่ได้ผลดีที่สุดในหลายประเทศคือการห้ามการรวมกลุ่มของประชาชนที่เข้มข้น ดังนั้น คณะผู้เขียนเสนอว่าในภาวะวิกฤตของไทยนี้ เราควรจะจำกัดการรวมกลุ่มในกิจกรรมที่ไม่จำเป็นไม่ให้เกิน 2 คน เหมือนที่เวียดนามกำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นเวลา 14 วัน (Viet Nam News 2021) เพราะจะทำให้การระบาดลดลงได้อย่างรวดเร็วที่สุด


“ล็อกดาวน์” แบบไหนคนถึงจะ “ไม่น็อก”

แม้ว่ามาตรการข้างต้นจะมีประสิทธิภาพสูงในการลดการระบาด แต่มาตรการเหล่านี้ก็มีผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและทางสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มแรงงานหาเช้ากินค่ำ ดังนั้นควรต้องคำนึงถึงมาตรการเสริมอื่นๆด้วย อาทิ การแจกจ่ายอาหาร วันละ 3 มื้อ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนที่ต้องตกงาน โดยรัฐสามารถรับสมัครร้านอาหารเข้าร่วมโครงการทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนโดยงบประมาณของรัฐ ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการต่ออายุธุรกิจร้านอาหาร เสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

งบประมาณในโครงการนี้ ก็ไม่น่าจะมากกว่างบประมาณในโครงการเยียวยาอื่นๆที่รัฐเคยทำ อาทิ หากมีประชาชนรับอาหารประมาณ 10 ล้านคนต่อมื้อ ในกรณีล็อคดาวน์ 14 วันจะต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 12,600 ล้านบาท (โดยคำนวณจากค่าอาหารมื้อละ 30 บาท) ส่วนวิธีการเบิกจ่าย ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ระบบของโครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาลมีอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ให้รัฐมีมาตรการรองรับที่เหมาะสม อาทิ การเหมาจ่ายโดยคาดประมาณจำนวนประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่มารับอาหาร นอกจากนี้ การรับอาหารต้องมีการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการระบาด

“ล็อกดาวน์” ต้อง “ไม่ล็อกทิพย์”

ในภาวะวิกฤตการระบาดในประเทศไทยในขณะนี้ การใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นอย่างแท้จริงและทั่วถึง จะเป็นสิ่งที่ชี้ชะตาถึงผลสำเร็จในการรอดพ้นวิกฤตที่ถือว่ารุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ผ่านมาเราเห็นได้ว่า มาตรการควบคุมหลายมาตรการก็ไม่สามารถมีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง อาทิ การเกิดการลักลอบนำแรงงานต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่ผ่านจุดคัดกรองและกักตัว เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายประเทศ อาทิ ประเทศจีนสามารถควบคุมการระบาดได้ดี ทั้งที่มีพรมแดนธรรมชาติที่ยาวและยากต่อการควบคุมเป็นอย่างมาก

สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะว่า ประเทศจีนนั้นมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามมาตรการควบคุมต่างๆอย่างเคร่งครัด แต่การกระทำของคนส่วนน้อยที่ไม่เคารพมาตรการควบคุมต่างๆ ก็สามารถเป็นชนวนไฟการระบาดให้ลุกลามเป็นไฟป่าเผาประเทศได้ ดังนั้นวิธีป้องกันคือการออกกฎหมายชั่วคราวที่เข้มข้นและเพิ่มโทษคนที่ละเมิดกฎหมายและมาตรการที่รัฐกำหนด

บทความนี้เขียนโดย
ผศ. ดร. ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ
ผศ. ดร. ภัทเรก ศรโชติ
ผศ. ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์
คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย