App ไหนไม่ได้ใช้ต้องลบทิ้ง

App ไหนไม่ได้ใช้ต้องลบทิ้ง

หากเก็บไว้ระยะยาวอาจส่งผลกระทบทำให้ข้อมูลรั่วไหลได้

การเรียกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะในสมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ แต่ก่อนเราใช้วิธีการโบกมือเรียก หรือโทรศัพท์เข้าไปที่ศูนย์เพื่อเรียกรถ แต่ปัจจุบันเรานิยมใช้แอพพลิเคชั่นเรียกรถแทน 

การใช้แอพพลิเคชั่นนั้นทำให้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องมอบข้อมูลส่วนบุคคลให้กับผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล ตำแหน่งที่ตั้ง เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลบัตรเครดิต ฯลฯ เพื่อให้บริษัทเจ้าของแอพพลิเคชั่นมอบบริการได้ตรงตามที่เราต้องการ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Didi แอพพลิเคชั่นชื่อดังสำหรับเรียกรถ (Ride-hailing App) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถูกลบออกจากแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหลายๆ เจ้า 

โดยการสั่งการของหน่วยงานกำกับดูแลบริหารไซเบอร์สเปซของจีน หรือ Cyberspace Administration of China (CAC) หลังมีการตรวจสอบพบว่า แอพพลิเคชั่น Didi ได้ละเมิดกฎหมายในการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้

แน่นอนว่าเรื่องนี้ส่งผลต่อรายได้ของบริษัท Didi Chuxing เจ้าของแอพพลิเคชั่น Didi โดยบริษัทได้คาดการณ์ว่าการนำแอพพลิเคชั่นออกจากแพลตฟอร์มดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นจะทำให้รายได้ของบริษัทลดลง ถึงแม้ว่าลูกค้าที่มีแอพพลิเคชั่นอยู่แล้วจะยังใช้แอพพลิเคชั่นได้ก็ตาม การถอดแอพพลิเคชั่นออกนี้เกิดขึ้นเฉพาะแพลตฟอร์มในประเทศจีนเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี บริษัทจะพยายามแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นด้วยการปรับปรุงระบบการรับรู้และป้องกันความเสี่ยง รวมถึงความสามารถทางเทคโนโลยี การปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้ แต่ยังคงไว้ซึ่งการให้บริการที่ปลอดภัย และมอบความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งานต่อไป โดยลูกค้าของ Didi Chuxing มีมากกว่า 550 ล้านราย ทั้งในทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย และละตินอเมริกา

อันที่จริงแล้วกฎหมายด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศจีนที่ถูกประกาศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่มากขึ้นในการควบคุมการเคลื่อนที่ของข้อมูล (Data Flow) ภายในประเทศ 

อีกทั้งยังบังคับให้ผู้ให้บริการต้องจัดเก็บข้อมูลภายใน Great Firewall ที่รู้จักกันดีว่าเป็นกำแพงกรองข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ตภายนอกของประเทศจีน และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบริษัทต่างๆในเรื่องความปลอดภัยที่ถูกกำหนดไว้อย่างคลุมเครือ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศจีนก็ยังมีองค์ประกอบหลายส่วนที่คล้ายกับ GDPR ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขต​สหภาพยุโรป ที่รวมไปถึงเรื่องสิทธิในฐานะเจ้าของข้อมูล การลงโทษทางอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดร้ายแรง และภาระผูกพันใหม่ๆ ในการปกป้องข้อมูลสำหรับองค์กร 

แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างคือกฎหมายนี้ของจีนมีแนวโน้มที่จะเปิดกว้างต่อการตีความ และการบังคับใช้ตามอำเภอใจโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจ ที่เป็นไปได้ว่าอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง

ผมเองก็เคยใช้แอพพลิเคชั่น Didi มาก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วจึงลบออกไป ท่านผู้อ่านก็เช่นกันนะครับหากมีแอพพลิเคชั่นใดที่ไม่ได้ใช้แล้ว ควรลบออกจากสมาร์ทโฟนโดยทันที เพราะหากเก็บไว้ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบทำให้ข้อมูลรั่วไหลได้ ถึงเวลานั้นจะลบก็ลบไม่ทันแล้วครับ