จดทะเบียน‘นิติบุคคล/ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ได้ในขั้นตอนเดียว

จดทะเบียน‘นิติบุคคล/ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ได้ในขั้นตอนเดียว

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับกรมสรรพากร รวมขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคลกับภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เบ็ดเสร็จ เพื่อลดขั้นตอนการเริ่มต้นประกอบกิจการ

บทความโดย ผศ.ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 ในอดีต ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะก่อตั้งองค์กรธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคลในประเทศไทย จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอน ตั้งแต่การจองชื่อนิติบุคคล การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  ขั้นตอนเหล่านี้ผู้ประกอบการจะต้องติดต่อกับหน่วยงานหลายหน่วยงาน ส่งผลให้อาจจะไม่ได้รับความสะดวกและเกิดความล่าช้าในการเริ่มต้นประกอบกิจการ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรจึงร่วมมือกัน เพื่อลดขั้นตอนในการเริ่มต้นประกอบกิจการดังกล่าว โดยใช้รูปแบบการรวมขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้อยู่ในขั้นตอนเดียว  โดยผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพียงหน่วยงานเดียวโดยไม่ต้องไปติดต่อกรมสรรพากรอีก อันเป็นการช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ

เงื่อนไขสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่จะใช้สิทธิยื่นคำขอดังกล่าว คือ จะต้องมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการอันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร เป็นต้น

สำหรับระยะเวลาในการยื่นคำขอนั้น ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะยื่นคำขอได้ภายในกำหนด 6 เดือนก่อนวันเริ่มต้นประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ เว้นแต่จะมีสัญญาหรือหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ประกอบการจะดำเนินการก่อสร้างโรงงาน หรืออาคารสำนักงาน หรือติดตั้งเครื่องจักร หรือมีการกระทำในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการก่อสร้างโรงงาน หรืออาคารสำนักงาน หรือติดตั้งเครื่องจักรนั้น

มีข้อสังเกตว่า สำหรับการประกอบกิจการขายพืชผลทางการเกษตร กิจการขายสัตว์ กิจการขายปุ๋ย กิจการขายปลาป่น อาหารสัตว์ กิจการขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์ กิจการขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะระบุในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นกัน

ในการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ ผู้ประกอบการทุกประเภทกิจการต้องระบุเลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อสถานประกอบการ ประเภทของกิจการ ได้แก่ การผลิต การส่งออก การขายส่ง การขายปลีก หรือการให้บริการ และต้องรับรองข้อมูลไว้ด้วยว่ามิได้เป็นตัวแทนเชิดของเจ้าของกิจการที่แท้จริง มิได้ใช้สำนักงานกฎหมายหรือสำนักงานบัญชีของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ มิได้เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม และมิได้กระทำการหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร

ในกรณีที่ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแสดงรายการในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ครบถ้วน หรือแสดงรายการในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครบถ้วนแล้วแต่เข้าลักษณะดังต่อไปนี้ คือ แสดงรายการในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเท็จ หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ประกอบการเป็นตัวแทนเชิดของเจ้าของกิจการที่แท้จริง

หรือผู้ประกอบการไม่มีสถานประกอบการจริงตามที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ประกอบการใช้สำนักงานกฎหมายหรือสำนักงานบัญชีของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ หรือผู้ประกอบการมิได้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมิใช่ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการที่แท้จริง  กรณีต่าง ๆ ข้างต้น เจ้าพนักงานกรมสรรพากรจะไม่ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ

กรณีที่ผู้ประกอบการปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนและเจ้าพนักงานกรมสรรพากรออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แล้ว ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) พร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) ไม่ว่าจะได้ขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีสำหรับเดือนภาษีใด ให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยให้คำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ หากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อก็ให้ผู้ประกอบการชำระภาษีเท่ากับส่วนต่างนั้น หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายก็ให้เป็นเครดิตภาษีและให้ผู้ประกอบการนั้นมีสิทธิได้รับคืนภาษี หรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในเดือนภาษีถัดไป เว้นแต่ในกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ให้มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมนั้น

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น และมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นพร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องติดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการดังกล่าว กรณีเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีสัญญาเช่า โดยสัญญาเช่าดังกล่าวต้องระบุชื่อและที่อยู่ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ด้วย  และถ้าเป็นกรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการด้วย

จากวิธีการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรช่วยกันลดขั้นตอนในการจดทะเบียนข้างต้นนั้น ทำให้การยื่นจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในขั้นตอนเดียว อันเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยได้รวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่ซบเซาจากภาวะการระบาดของโรคโควิด 19 ให้กลับมากระเตื้องขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย.