จับตา“กพช.”อนุมัตินำเข้าก๊าซ ลดต้นทุนค่าไฟประเทศ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่นับวันยังทวีความรุนแรงมากขึ้นสะท้อนผ่านรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวัน
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่นับวันยังทวีความรุนแรงมากขึ้นสะท้อนผ่านรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ ที่ทะลุ 1 หมื่นคน ทำให้ภาครัฐต้องประกาศล็อกดาวน์และอัดมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในหลายภาคส่วน
เช่นมาตรการลดค่าไฟฟ้า ที่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่าน ได้ต่ออายุมาตรการช่วยส่วนลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศรวม 2 เดือน เริ่มงวด ก.ค.-ส.ค.นี้ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ก็มีมติตรึงค่าไฟฟ้า(เอฟที) งวด ก.ย.-ธ.ค.นี้ อยู่ที่-15.32 สตางค์ต่อหน่วย หรือ ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในอัตรา 3.61 บาทต่อหน่วยถึงสิ้นปี
แต่ กกพ.ก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่า ค่าไฟฟ้าในปีหน้า(ปี2565) มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงโดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนสูง 60-70% แม้ว่า กกพ.จะมีเงินเหลืออีกกว่า 2,000 ล้านบาทที่จะนำมาบริหารจัดค่าไฟฟ้าในอนาคต แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะเพียงพอหรือไม่
ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆนี้ บอร์ด กกพ.ก็ได้อนุมัติออกใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ(Shipper)ให้กับภาคเอกชนเพิ่มเติม ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้ได้รับไลเซ่นส์อีก 7 ราย จากเดิมมีแค่ ปตท.ที่มีโควตานำเข้าก๊าซฯเท่านั้น
ขณะที่ปีนี้ คณะกรรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เห็นชอบปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ปี 2564 – 2566 เพื่อรองรับการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 โดยกำหนดโควตาให้นำเข้าในปี 2564 จำนวน 4.8 แสนตันต่อปี ส่วนปี 2565 นำเข้าได้ 1.74 ล้านตันต่อปี และปี 2566 นำเข้าได้ 3.02 ล้านตันต่อปี
ด้วยโควตานำเข้า LNG ปีนี้ที่มีปริมาณน้อย หากเทียบกับความต้องการนำเข้าของ Shipper ทั้ง 7 รายแล้ว กกพ.จึงต้องเกลี่ยโควตาให้ลงตัว เพื่อเตรียมนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งตามกำหนดการเดิมนั้น กพช.จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการนำเข้าจริงในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ขณะนี้ ก็ยังไม่มีกำหนดการนัดหมายจัดประชุม กพช.ที่ชัดเจนออกมาก
อย่างไรก็ตาม การนำเข้า LNG ตามนโยบายเปิดเสรีกิจการก๊าซฯนั้น ต้องไม่ลืมว่า เป็นการส่งเสริมแข่งขันการนำเข้า LNG เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ฉะนั้น ในส่วนของการนำเข้าLNG ที่จะมาป้อนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงนั้น หากเกิดส่วนต่างราคาก๊าซฯที่ถูกลง ก็ควรพิจารณานำมาเป็นส่วนลดต้นทุนค่าก๊าซฯในอนาคตด้วย เช่นเดียวกับที่ ปตท.ทดลองส่งออก LNG (Reloading) เที่ยวเรือแรกเมื่อช่วงต้นปีนี้ จนมีรายได้นำส่งภาครัฐประมาณ 580 ล้านบาท และ กพช.มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการนำไปลดราคาค่าก๊าซฯต่อไป
ฉะนั้น หากนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ เกิดขึ้นได้เร็วตามเป้าหมายของรัฐ ก็จะเป็นอีกหนึ่งความหวังของประเทศที่จะนำประโยชน์จากนโยบายนี้มาเป็นส่วนลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตได้
ก็เข้าใจว่า ขณะนี้ภาคนโยบายแม้จะมีหลายเรื่องร้อนให้ต้องจัดการและรับมือกับพิษโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่ว แต่ก็ต้องไม่ลืมผลักดันนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯให้เป็นรูปธรรมตามแผนงานในปีนี้ด้วย เพราะจะเป็นอีกส่วนที่ช่วยลดต้นทุนค่าครองชีพให้กับประชาชนในอนาคต