ESG กับความสำคัญสำหรับการลงทุนในโลกใหม่
การระบาดของโควิด-19 ในประเทศรอบใหม่ กระทบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง เศรษฐกิจหดตัว
อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น รวมถึงสะท้อนระบบบริการสุขภาพที่ไม่เพียงพอในภาวะวิกฤติ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ซ้ำจะส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อเนื่องไปถึงในอนาคตด้วย เช่น ช่องว่างของรายได้ที่กว้างขึ้น ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลและครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและน่าจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้สิ่งแวดล้อมจะได้รับผลบวกในระยะสั้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง แต่งบประมาณที่เคยถูกจัดสรรมาเพื่อจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมก็อาจจะโดนลดทอนเพื่อใช้ไปในการพยุงเศรษฐกิจ ผนวกรวมกับปัญหาดั้งเดิม เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ปัญหาธรรมมาภิบาลที่ไม่ดี ทำให้ประเด็นเรื่อง แนวคิดในการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน การคำนึงถึงการเติบโตในระยะยาว และภาคการเงินการลงทุนยั่งยืน (Sustainable Finance) กลับมาเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญมากขึ้น และน่าจะเป็นส่วนประกอบหลักของการดำเนินธุรกิจและการลงทุนต่อไปในอนาคตด้วย
องค์กรสหประชาชาติกำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)) ทั้งหมด 17 ข้อครอบคลุมตั้งแต่มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพและสถาบัน รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างกัน เป็นกรอบทิศทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน และกำหนดหลักปฏิบัติสำหรับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (UN Principles for Responsible Investment: PRI) มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมลงทุน เช่น ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์ บริหารความเสี่ยง หรือนักลงทุน มีส่วนผลักดันต่อการนำประเด็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ ธรรมมาภิบาล (Governance) หรือที่รู้จักกันดีในรูปของ ESG Factors เข้าไปอยู่ในกระบวนการลงทุนต่างๆ
ภาคการการเงินยั่งยืน (Sustainable Finance) เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับภาคการเงินเผื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมทั้งภาคธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนต่างๆ โดยเน้นตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลไปพร้อมกับการเติบโตในส่วนของการลงทุน แนวคิดเกี่ยวกับการรวม ESG Factors เข้ามาอยู่ในกระบวนการลงทุนนั้นสามารถสอดแทรกเข้าไปอยู่ในกระบวนการการลงทุนได้เกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตการลงทุน การวิเคราะห์มูลค่า การจัดสรรสินทรัพย์ รวมถึงการบริหารความเสี่ยง โดยแนวทางมีความหลากหลาย เช่น การคัดกรองการลงทุน (Negative Screening) การผนวกปัจจัยด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมมาภิบาลอย่างชัดแจ้งในการลงทุน (ESG Integration) การแสดงบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้นอย่างจริงจังผ่านการสานสัมพันธ์กับกิจการโดยตรง (Corporate Engagement and Shareholder Action) รวมกึงการลงทุนที่ให้นำหนักกับประเด็นความยั่งยืนต่อสินทรัพย์ที่เข้าลงทุน (Sustainability-Themed Investing) เช่น กองทุนรวมพลังงานทางเลือกที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน โดยจากการสำรวจของสถาบัน Global Sustainable Investment Alliance (GAIC) พบว่า ณ ต้นปี 2020 มูลค่าของสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการของนักลงทุนสถาบัน (AUM) ใน 5 ภูมิภาคหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป แคนาดา ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนและประเด็นด้าน ESG เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 35.3 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2018 และสูงถึงร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับปี 2016 ซึ่งแสดงให้เห็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมาก ซึ่งแรงผลักดันด้านกฏระเบียบเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะทำให้การเติบโตสูงมาก แต่เป็นการที่อุตสาหกรรมและผู้มีส่วนร่วมต่างๆ เห็นความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน
นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) และการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) ประเด็นเรื่องของ ESG ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยกระบวนการพิจารณาและตรวจสอบประเด็นด้าน ESG ไม่ว่าจะเป็น การเข้าเยี่ยมชมกิจการ การสัมภาษณ์ผู้บริหาร และการวิเคราะห์ต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจและส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและอนาคตของธุรกิจด้วย
ขณะที่องค์กรหรือบริษัทจดทะเบียนเอง การคำนึงถึงประเด็นเรื่องของ ESG Factors ในการทำธุรกิจก็มีความสำคัญ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มมูลค่าของกิจการได้ โดยหลักปฏิบัติที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางคือ การสร้างความตระหนักและความสำคัญของ ESG ให้กับทุนส่วนงานในองค์กร การมีกระบวนการและมาตรการในการวัดที่ชัดเจน และมีการติดตามผลการดำเนินงานและรายงานผลด้าน ESG อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ
ประเด็นเรื่องของ ESG นั้นไม่ได้เพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจที่อาจทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยลง แต่เป็นเรื่องของการจำกัดความเสี่ยงในลักษณะของ Tail Risk (หรือความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่อาจสร้างความเสียหายได้สูง) และเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข็งขันในระยะยาวสำหรับภาคธุรกิจ และสำหรับผู้ลงทุนเองก็ต้องตระหนักถือความสำคัญของ ESG Factors ต่อการลงทุน เพราะประเด็นเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระยะสั้นหรือระยะยาว แต่เป็นการคำนึงถึงปัจจัยให้รอบด้านสำหรับการลงทุนในปัจจุบัน และเน้นย้ำความสำคัญมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดูเหมือนว่าจะรวดเร็วขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมและการพัฒนาและเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี
ส่วนประเทศไทยทิศทางการพัฒนาและความสำคัญของ ESG ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์หุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์จาก 51 บริษัทในปี 2015 เป็น 124 บริษัทในปี 2020 การเติบโตของสินทรัพย์ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นยั่งยืนใน บลจ. ต่างๆ รวมถึงการตระหนักถึงความสำคัญการนำมาตรฐานด้าน ESG มาเป็นองค์ประกอบของกระบวนการตัดสินใจลงทุน เช่น การประเมินจากผู้วิเคราะห์ด้าน ESG รายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THIS) หรือ ดัชนีหุ้นยั่งยืน (SET Thailand Sustainability Index: SETTHSI) ไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนสำหรับผู้จัดการกองทุน หรือแม้แต่เราจะพบว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่หลายแห่งของไทยเองก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากลสะท้อนจากดัชนีชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Dow Jones Sustainability Index, FTSE4Good และ MSCI ESG Leaders รวมถึงการออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) ที่เราสามารถพบเจอได้บ่อยมากขึ้น ในขณะที่นักลงทุกที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมเองก็เริ่มเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของหุ้นยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐฯ ภาคเอกชน และผู้ลงทุนในการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาและให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากขึ้นต่อเนื่อง โดยการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่ผลักภาระหรือต้นทุนให้กับสังคมบางส่วน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ และดำเนินกิจการภายใต้หลักธรรมมาภิบาลที่ดี คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วนถูกต้องเหมาะสม ย่อมเป็นการเติบโตที่มีคุณภาพและไม่ผลักภาระในด้านต่างๆ ไปยังคนรุ่นถัดๆ ไปด้วยครับ