บริหารความเครียด

บริหารความเครียด

ช่วงนี้ อ่านข่าวช่องทางไหนก็มีแต่เรื่องเครียด เครียดเสียจนน่าเป็นห่วงว่าจะกระเทือนถึงสมอง

“พี่ธัญ เราคงต้องปิดโรงแรมจนถึงสิ้นเดือนสิงหานะ” จี๊ป ศิริธร ธำรงนาวาสวัสดิ์ น้องสาวคนเก่งของผมบอกด้วยน้ำเสียงซึมผ่านทางไลน์

ครอบครัว ผมมีโรงแรมเล็กๆ อยู่ริมทะเลที่จังหวัดระยอง ชื่อ บัญดารา ออน ซี ซึ่งเปิดมาร่วม 30 ปีแล้ว สมัยเรียนผมกลับมาเมืองไทยช่วงซัมเมอร์ ยังได้ไปนั่งทาสีโคมไฟ ปีนบันไดแขวนรูป

ตลอดเวลาที่ผ่านมา จี๊ปต่อสู้กับโควิดและมาตรการต่างๆ เพื่อให้โรงแรมเดินต่อไป เราเป็นสถานประกอบการแห่งแรกๆ ที่ได้ SHA วางระบบการทำงานทางสุขภาพเพื่อให้ทุกคนปลอดภัยที่สุด

ประคองตัวมาได้ปีกว่าโดยไม่ต้องปิดโรงแรม ลดเวลาทำงานพนักงานลงบ้าง สลับเวรกันบ้าง ย้ายไปช่วยแผนกซ่อมบำรุง แผนกทำสวน ลงต้นไม้ใหม่ กระทั่งปลูกพืชผักสวนครัว

แต่ในที่สุด ก็มาถึงจุดนี้

“จริงๆ ถ้าเราจะเปิดต่อไปก็พอมีลูกค้านะ เพราะจังหวัดเราไม่ต้องล็อกดาวน์ ยังมีคนมาพักเรื่อยๆ แต่ว่าจี๊ปเป็นห่วงพนักงาน เคสมันเยอะ เค้าต้อนรับคนแปลกหน้าต่างถิ่นทุกวัน กลัวว่าจะติดโควิด แล้วจะลามไปถึงครอบครัวที่บ้านกัน ก็เลยตัดสินใจว่าปิดดีกว่า” เหตุผลนี้คือคำตอบว่าทำไมพนักงาน (และพี่ชายทั้งสอง) จึงรักน้องสาวคนนี้ยิ่งนัก 

“ก็เลยอยากคุยกับพี่ธัญว่า เราช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานอีกเดือนหนึ่งระหว่างที่โรงแรมปิดได้ไหมคะ ถ้าสิ้นสิงหาแล้ว มันยังเปิดกลับมาไม่ได้จริงๆ ก็คงต้องให้ทุกคนช่วยตัวเอง”

จุดนี้คือจุดที่ผมเห็นต่าง และพี่น้องคุยกันต่ออีกพักใหญ่

ข้อคิดของผู้นำสมอง

จริงๆแล้วความเครียดไม่ใช่สิ่งไม่ดี เพราะสมองมนุษย์นั้นวิวัฒนาการมาให้รับมือกับความเครียดอยู่แล้ว ตัวอย่างง่ายๆ บรรพบุรุษของเราที่ ‘เครียด’ ต่อการมาของเสือ มีแนวโน้มจะอยู่รอดได้นานกว่าคนที่ไม่รู้ร้อนหนาวต่ออันตรายใกล้ตัว องค์กร (หรือผู้นำ) ที่รับฟังคำตำหนิของลูกค้า พร้อมปรับตัวให้กระฉับกระเฉงทันเวลา ย่อมมีแนวโน้มจะอยู่รอดได้นานกว่าองค์กร (หรือรัฐบาล) ที่่ไม่แคร์

แต่สิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงคือสภาพ ‘เครียดเรื้อรัง’ คือการตกอยู่ในภาวะเครียดแบบเดิมนานเกินไป กลืนไม่เข้าคายไม่ออก กลับไม่ได้ไปไม่ถึง ย้ำคิดย้ำทำ ให้ร่างกายต้องรับมือกับความเครียดยาวๆ ด้วยระบบที่สร้างมาให้รับมือกับความเครียดสั้นๆ

ลองนึกถึงเบรครถยนต์สิครับ เบรคเป็นครั้งคราวไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าแช่ยาวเช่นขับลงเขาเป็นชั่วโมง หรือลืมปลดเบรคมือระหว่างขับจะเป็นอย่างไร? สมองเราก็เหมือนกัน

สมองส่วนหนึ่งของเรามีชื่อว่า Hypothalamus เปรียบเสมือนแม่ทัพใหญ่ของสมองเพราะอะไรๆ ก็ต้องยิงผ่านสมองส่วนนี้ มันทำหน้าที่ควมคุมเรื่องสำคัญๆหลายอย่าง  เช่น อุณหภูมิร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดัน การนอนหลับ ฯลฯ

เวลาเรามี ‘ความเครียดเรื้อรัง’ สมองส่วนนี้จะถูกโจมตีด้วยสารต่อต้านความเครียด (cortisol) จนบางครั้งเซลส์ตายก็มี ส่งผลต่อความสามารถในการคิดและตัดสินใจของเรา

จุดเริ่มต้นของการรับมือกับความเครียดคือ แยกให้ออกว่าเรากำลัง ‘เครียด’ เฉยๆ หรือ ‘เครียดเรื้อรัง’

และหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรช่วงนี้คือ ช่วยดูแลสภาพจิตใจคนของคุณจากภาวะหลังนี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“พี่ธัญว่า แทนการจ่ายเขาเลยไปอีกหนึ่งเดือน เราใช้วิธียืดเวลาออกไปดีไหม?” ผมเสนอ ก่อนอธิบายเพิ่มเติม

“หมายถึง เรากำหนดกันเลยว่าเรามีกองทุนจะช่วยพนักงานเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ สมมติ จ้างทุกคนได้ในอัตราเงินเดือนปกติอีกหนึ่งเดือน

แทนการจ่ายครั้งเดียวหมด เราแบ่งเป็นเดือนแรก 50% เดือนสอง 30% และเดือนที่สาม 20%”

หากจ่ายครั้งเดียวหมด คนของเราอาจได้เงินไปก้อนหนึ่งก็จริง แต่สมองเค้าจะคิดตั้งแต่วันนี้เลยว่า ‘ตกงาน’ แล้วจะหางานใหม่ที่ไหน มองไปก็มีแต่เคส มีแต่คนลดตำแหน่งลดพนักงาน ย้ำคิดย้ำทำเป็นกังวล

หากเขารู้ว่า เขายังมีงานทำอยู่แน่ๆ อีกสองสามเดือน แม้รายรับน้อยลง แต่ลักษณะความเครียดจะเปลี่ยนจากการอดตายไม่มีอะไรกิน เป็นการจะใช้เงินอย่างไรให้พอตัวไปก่อนช่วงนี้ เปลี่ยนจากความท้อแท้หมดอาลัย มามองหาอาชีพเสริมเล็กๆ น้อย ปลูกผักทำสวน ให้ยอดเงินในแต่ละเดือนพออยู่พอกินไปได้อีกพัก

การบริหารความเครียดแบบเป็นมิตรต่อสมองขึ้นอีกหน่อย เพื่อลดเวลาของความเรื้อรังลงบ้าง

“เห็นด้วยค่ะ งั้นเราเอาอย่างที่พี่ธัญว่า เพราะจี๊ปดูแล้วมันไม่จบง่ายๆ แน่” น้องสาวผมสรุปอย่างผู้บริหารเป๊ะ