ศึกระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่-รัฐบาล ในสนามกฎหมายแข่งขันทางค้า
กฎหมายการแข่งขันทางค้า หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า antitrust ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 100 ปี
antitrust ในสหรัฐอเมริกา มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการที่จะกำกับ “trust” ซึ่งหมายถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่รวมกลุ่มกันเพื่อครอบงำและเอาเปรียบตลาด ซึ่งในยุคแรก ๆ ถึงขนาดต้องมีการสั่งให้แบ่งแยกบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่มีขนาดใหญ่เกินไปในสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว
การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางค้านั้น อาจสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าจะขึ้นอยู่กับทิศทางของรัฐบาลและสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาเป็นหลัก โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางค้าในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นถือว่า ได้มีแนวโน้มที่จะลดความเข้มงวดลงมาก เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจอย่างเสรี
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาก็กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐเริ่มกลับมามีแนวโน้มในการเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายแข่งขันทางการค้าในสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มเพ่งเล็งวิธีการประกอบธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลาย ๆ เจ้าในประเทศ เนื่องจากความกังวลว่าการที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านั้นมีอำนาจเหนือตลาดเป็นอย่างมาก อาจถึงขนาดมากพอที่จะทำให้สามารถจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทอื่นหรือการแข่งขันในรูปแบบต่าง ๆ ได้
ทิศทางของรัฐบาลไบเดนนั้นเห็นได้ชัดเจนจากการตั้ง ลีน่า ข่าน (Lina Khan) ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้ที่เป็นที่รู้จักในบทบาทของนักวิชาการสำนักความคิดที่เน้นไปทางการคัดค้านการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะมีแนวนโยบายไปในแนวทางที่จะพยายามกำกับอำนาจเหนือตลาดของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลไบเดนก็แต่งยังตั้ง ทิม วู (Timothy Wu) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาลัยโคลัมเบียและเป็นนักวิชาการสำนักความคิดที่คัดค้านการผูกขาดของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ให้รับตำแหน่งในฝ่ายเทคโนโลยีและนโยบายการแข่งขันในสภาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะเป็นสัญญานที่บ่งบอกทิศทางของนโยบายเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของรัฐบาลไบเดนไปในทางเดียวกัน
ในส่วนของการออกนโยบายหรือคำสั่ง เพื่อกำกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่นั้น ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะออกมารูปแบบไหน
ในส่วนของสหภาพยุโรปนั้น ก็ได้มีการลงโทษบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ด้วยกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหลายครั้งแล้ว แต่เคสที่น่าสนใจล่าสุดคือ การลงโทษการตกลงร่วมกันของบริษัทรถยนต์ทั้งหมดห้าบริษัท ที่ถูกกล่าวหาว่า บริษัทรถยนต์ดังกล่าวได้มีการตกลงร่วมกันกับอีกสี่บริษัท ว่าทั้งห้าบริษัทตกลงจะใช้เทคโนโลยีการรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับที่ต่ำที่สุดที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ แทนที่แต่ละบริษัทจะเลือกใช้เทคโนโลยีที่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้าที่สุดที่ตนมีอยู่ในมือ
การลงโทษครั้งนี้ถือว่่าเป็นการลงโทษการตกลงร่วมกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อลดการแข่งขันหรือที่เรียกว่า technology cartel ซึ่งเป็นรูปแบบการตกลงร่วมกันเพื่อลดการแข่งขันที่ต่างไปจากกรณีปกติอื่น เนื่องจากเดิมทีการลงโทษการตกลงร่วมกันที่มีผลในการลดการแข่งขันนั้นเป็นการลงโทษที่เน้นการดูเรื่องการตกลงร่วมกันเรื่องราคาซื้อ ราคาขาย หรือเงื่อนไขทางการค้า ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการ หรือการจำกัดในเรื่องของปริมาณ
ซึ่งมาตรา 55 ของ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ของประเทศไทยก็เน้นการกำกับแบบเดียวกัน คือ การกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทําการใด ๆ อันเป็น การผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดใดตลาดหนึ่งในลักษณะที่เกี่ยวกับราคา หรือปริมาณ หรือลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิตจําหน่ายหรือให้บริการ หรือกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือการจําหน่ายสินค้าหรือการบริการเพื่อให้ปฏิบัติตามที่ตกลงกัน
จึงเป็นที่น่าสนใจว่าหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของประเทศอื่น ๆ จะมีนโยบายการบังคับใช้ในรูปแบบเดียวกันตามแนวทางของสหภาพยุโรป โดยการลงโทษการตกลงร่วมกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มีผลในการลดการแข่งขันหรือไม่ แต่จะเห็นได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมก็คงจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ
หากถอยหลังออกมามองภาพที่กว้างขึ้น เรื่องการตกลงร่วมกันระหว่างบริษัทนั้นก็อาจเป็นดาบสองคม เพราะในมุมหนึ่งการร่วมมือกันในการพัฒนาสินค้าหรือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะยิ่งร่วมมือกันคิดมากเท่าไหร่ ก็อาจมีไอเดียที่มีประโยชน์ต่อโลกมากขึ้นเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่การร่วมมือดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การตกลงกันในการที่จะลดการแข่งขันในตลาดลงได้ ความสมดุลของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางค้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก
จากตัวอย่างของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะเห็นได้ว่านโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีความสำคัญต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศไทยก็จะมีส่วนสำคัญมาจากนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกัน.