เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นจีน .. ของที่ใครๆ ก็ต้องมีในปีที่แล้ว
ทำเอากองเชียร์วิตกกังวลไม่น้อยกับการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของหุ้นจีนสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดที่ว่ากันว่า ใครๆ ก็ต้องมีในปีที่แล้ว
จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐเข้มแข็ง มีเป้าหมายพัฒนาประเทศชัดเจน ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรและการบริโภคในประเทศ กระแสการเปลี่ยนแปลงของเมกะเทรนด์ต่างๆ และการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มาแรงสูสีกับสหรัฐฯ จนก่อให้เกิดประเด็นเรื่องของ Tech War และเป็นการต่อสู้ที่สูสีระหว่างผู้นำในปัจจุบันอย่างสหรัฐฯ กับจีน ที่แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วงชิงโอกาสเติบโตเป็นผู้นำต่อไป โดยไม่ว่าฝั่งสหรัฐฯ จะมีหุ้นเทคโนโลยีแบบไหน ฝั่งจีนก็จะมีใกล้เคียงกัน เช่น สหรัฐฯ มี Amazon Google Facebook หรือแม้แต่ Tesla จีนก็มี Alibaba Baidu Weibo และ BYD หรือแม้แต่กลุ่ม Smart Phone อย่าง Apple และ Huawei กับ Xiaomi ไม่ว่าจะมองมุมใด อนาคตหุ้นจีนก็มีแนวโน้มสดใส
แต่ปีนี้เรื่องกลับตาลปัตรไปหมด ในขณะที่ดัชนีฝั่งสหรัฐฯ เดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง บริษัทชั้นนำต่างๆ ทำรายได้เพิ่มขึ้นสอดรับกับเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง แต่ดัชนีฝั่งจีนกลับสวนทาง ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดี โดยหุ้นจีนสร้างผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตลาดสำคัญอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มกำลังพัฒนาในเอเชียที่ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเศรษฐกิจมีแนวโน้มน่าจะทรุดลงกว่าที่คาด
โดยนับตั้งแต่ต้นปีดัชนีหุ้น S&P500 และ NASDAQ ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกกว่าร้อยละ 17 และ 15 ตามลำดับ (ณ สิ้นวันที่ 29 ก.ค. 64) ในกลุ่มเอเชียดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้และ NIFTY50 ของอินเดียให้ผลตอบแทนกว่าร้อยละ 11 และ 13 ขณะที่ดัชนีสำคัญๆ ของจีนปรับตัวลดลงทั้งแผง นำโดยดัชนี CSI300 ที่ลดลงกว่าร้อยละ 7 ดัชนี H-Share ลดลงกว่าร้อยละ 14 และยังมีแนวโน้มลดลงหลังนักลงทุนยังคงเทขายต่อเนื่อง ดังเช่นข่าวที่ได้ยินช่วงก่อนหน้าของ Cathie Wood กับกองทุนกลุ่ม ARK การลดลงของดัชนีจีนเป็นเรื่องคาดเดายาก เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่วัฏจักรเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น นโยบายการเงินการคลังสนับสนุน ดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องสูง โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันต่อเนื่องคือเรื่องมาตรการทางการในความพยายามควบคุม สร้างความมั่นคง รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำของบริษัทกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศที่ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบ (Consumer Technology)
การเติบโตก้าวกระโดดของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Alibaba หรือ Tencent รวมถึงกลุ่มบริษัทเกิดใหม่และ Start-up ต่างๆ เช่น Meituan Dianping, Tomorrow Advancing Life (TAL) หรือ Didi Chuxing ซึ่งบางส่วนอยู่ในเครือหรือได้รับเงินลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ และเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งทางการมองว่าหากไม่ควบคุมอาจเกิดการผูกขาดทางการค้า ปิดกั้นการแข่งขัน นำข้อมูลไปใช้อย่างไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค และระยะยาวอาจเกิดปัญหาเชิงโครงสร้างสั่นคลอนความมั่นคงทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ความกังวลดังกล่าวดึงหุ้นกลุ่มอื่นๆ ลงไปด้วย ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ของจีนเผชิญแรงเทขายทั้งปี
เราเห็นความกังวลแบบเดียวกันจากสหรัฐฯ ต่อบริษัทชั้นนำเช่น Amazon, Facebook และ Google เช่นกัน แต่ใช้มาตรการแตกต่างกันตามสถาบันการปกครอง ที่มีวิธีดูแล ควบคุมกฎระเบียบและความเรียบร้อยของส่วนรวมแตกต่างกัน
จากประเด็นดังกล่าวนักวิเคราะห์เริ่มประเมินมุมมองต่อหุ้นกลุ่มนี้ใหม่ การเติบโตในอนาคตอาจถูกปรับประมาณการลงเพื่อสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวดังกล่าวและข้อจำกัดของการเติบโต คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่านโยบายชุดนี้จะจบเมื่อไร แต่เราอาจต้องยอมรับว่าความต้องการของทางการในการแทรกแซงเพื่อลดทอนความเสี่ยงระยะยาวคงไม่ได้หายไปในเร็ววัน และเป็นประเด็นที่หากเราต้องการลงทุนในจีนเราต้องเข้าใจความเสี่ยงข้อนี้เสมอ เพราะประเด็นดังกล่าวเริ่มสร้างความไม่แน่นอนตั้งแต่ปลายปี 2563 เริ่มจากการระงับการเสนอขายหุ้น IPO ของ Ant Financial การตรวจสอบการผูกขาดของ Alibaba และ Tencent ไล่มาจนถึง Meituan Dianping บริษัท Food Delivery ขนาดใหญ่ การสั่งถอด Didi Chuxing แพลตฟอร์มเรียกรถสาธารณะยอดนิยม การสั่งตรวจสอบแอปพลิเคชันที่อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูล และล่าสุดกับแผนการออกกฎควบคุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องไม่แสวงหากำไร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมกวดวิชา และสะท้อนความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายบริษัทที่มีแผนจะเสนอขายหุ้นให้สาธารณะในตลาดสหรัฐฯ กลับมาทบทวนท่าทีและทางเลือกอื่นๆ และนักลงทุนต้องกลับมาทบทวนมูลค่าของหุ้นกลุ่มนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หุ้นจีนจะปรับตัวลดลงทั้งหมด ในภาวะที่เราอาจจะต้องพิจารณาทางเลือกในการปรับพอร์ตฟอลิโอว่าจะมีลักษณะใดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก การขยับปรับเปลี่ยนกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีหุ้นบางกลุ่มที่ยังได้รับแรงสนับสนุนและไม่ได้ปรับตัวลดลงตามภาพรวมของดัชนีสะท้อนจากดัชนี ChiNext Index ที่ปรับตัวสวนทางตลาดภาพรวม และยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกนับตั้งแต่ต้นปีกว่าร้อยละ 15 โดยดัชนี ChiNext Index เป็นดัชนีหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีน้ำหนักสูงในกลุ่ม Healthcare, Industrials และกลุ่ม Information Technology ในรูปแบบที่แตกต่างกับบริษัทขนาดใหญ่ นับว่าน่าสนใจ สามารถลงทุนกลุ่มนี้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กองทุนรวม ETFs แต่ต้องระมัดระวังเพราะหุ้นขนาดกลางและเล็กอาจผันผวนสูงกว่าตลาดโดยรวม หรืออาจปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตระยะยาว โดยต้องอย่าลืมว่าจีนมีศักยภาพแทบทุกด้านที่จะเติบโตเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคต เช่น จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 กำหนดทิศทางปี 2564 - 2568 มียุทธ์ศาสตร์เติบโตผลักดันผ่านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการลงทุนด้านนวัตกรรมและระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล (Digital Economy) ทำให้ธุรกิจหลายกลุ่มจะได้รับแรงสนับสนุน เช่น กลุ่ม Health Innovation รวมถึงกลุ่ม Biotechnology, Pharmaceuticals และ Telehealth และกลุ่มพลังงานทางเลือกก็น่าสนใจ ขณะที่กลุ่ม Consumer Technology เช่น กลุ่ม E-Commerce, Gaming Services และ Online Education ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญทิ้งไปไม่ได้ แม้ต้องระมัดระวังการลงทุนระยะนี้ก็ตาม
สุดท้ายนี้ จะปรับพอร์ตฟอลิโอลักษณะใด ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนเป็นหลัก การลงทุนมักมีความเสี่ยงและเรื่องที่เราคาดไม่ถึงเป็นประจำ ช่วงเวลาที่ตลาดปรับตัวลดลงรุนแรงจะสร้างความกังวลให้นักลงทุน และอาจเกิดแรงกดดันด้านจิตวิทยาจนตัดสินใจผิดพลาดได้ หลายท่านที่ยังลงทุนในหลักทรัพย์ของจีนอยู่อาจต้องเลือกตัดสินใจจากการลงทุนในภาพรวมและความเสี่ยงที่รับได้ จะขายออก ถือต่อ หรือรอซื้อเพิ่มนั้น ต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานระยะสั้น กลาง และระยะยาว ประกอบกันเพื่อกำหนดกลยุทธ์และลดความกังวลจากความผันผวนในระยะสั้น หากยังกังวลและถือหุ้นจีนกระจุกอยู่จำนวนมากก็อาจชะลอหรือปรับสัดส่วนไปถือกลุ่มอื่นๆ หรือ ลดน้ำหนักลงบ้างเพื่อไปถือประเทศอื่นๆ แต่ถ้ายังเชื่อมั่นการเติบโตในระยะยาว และรับความผันผวนได้ก็อาจถือเพื่อรองรับความเชื่อดังกล่าวได้ สำหรับนักลงทุนบางส่วนที่ลงทุนในจีนอยู่ไม่มากช่วงที่ผ่านมาก็อาจพิจารณาหาจังหวะทยอยสะสมในช่วงเวลาที่ความผันผวนเริ่มลดลง เพื่อการเติบโตในระยะยาว การปรับตัวลดลงในบางช่วงอาจเป็นความเสี่ยงของหลายคน แต่ก็เป็นโอกาสของอีกหลายคนได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองนักลงทุน