การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด

เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลก ซึ่งตรงกับสัปดาห์แรกของสิงหาคมทุกปี ผอ.ยูนิเซฟไทย จึงถ่ายทอดประสบการณ์ ในฐานะแม่ลูกสาม ที่รู้ดีว่านมแม่สำคัญแค่ไหน

บทความโดย คยองซัน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

 นับเป็นเวลาปีกว่าแล้วที่เราต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ผู้ใหญ่ในประเทศไทยและทั่วโลกต่างกำลังรอคอยวัคซีนเข็มแรกเพื่อต่อสู้กับไวรัสอยู่นั้น สำหรับทารกตัวน้อยของเราแล้ว นมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับลูกน้อยที่จะช่วยปกป้องพวกเขาจากการติดเชื้อและการเจ็บป่วย และในฐานะแม่ลูกสาม ฉันรู้ดีว่านมแม่สำคัญแค่ไหน

ฉันก็ไม่ต่างจากแม่คนอื่น ๆ ที่ต้องการให้ลูกได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุดและมีรากฐานที่แข็งแรงของพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา นมแม่คือสิ่งวิเศษที่มอบสารอาหาร แอนติบอดี้ ฮอร์โมน รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระให้แก่ลูก ๆ เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมอง ฉันจึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะต้องให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังคลอดและให้กินนมแม่ล้วนในช่วงหกเดือนแรกตามคำแนะนำของยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก

162800554882

ในห้วงการแพร่ระบาดเช่นนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าน้ำนมแม่ปลอดภัยแค่ไหน? ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านน้ำนมแม่ได้ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟจึงแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าแม่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูงก็ตาม เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะปกป้องทารกจากโรคภัยไข้เจ็บ อีกทั้งประโยชน์ของนมแม่ เช่น การช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลูก ก็ยังมีมากกว่าความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ลูก อย่างไรก็ดี แม่ควรรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด เช่น ใส่หน้ากากอนามัยขณะให้นมลูกเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลกซึ่งตรงกับสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมของทุกปี ช่างเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยกลับเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวต่ำที่สุดในภูมิภาค ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟพบว่า มีเด็กเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของชีวิต ซึ่งลดลงจากร้อยละ 23 ในพ.ศ. 2559 นั่นหมายความว่า มีเด็กจำนวนมากกำลังพลาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ตรงของฉัน ฉันต้องบอกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และมันไม่ใช่ความรับผิดชอบของแม่ฝ่ายเดียว ฉันเรียนรู้อะไรมากมายจากการให้นมลูกคนแรกทำให้ฉันเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นต้องอาศัยความทุ่มเทหลายร้อยชั่วโมงบวกกับการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมโดยรวม

ในประเทศเกาหลีใต้ที่ฉันเติบโตมา ผู้หญิงต่างรู้ถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และที่นั่นก็มีระบบสนับสนุนที่ค่อนข้างพร้อม  ไม่ว่าจะเป็นการมีบุคลากรทางการแพทย์ที่คอยให้ความรู้และฝึกคุณแม่มือใหม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การมีพยาบาลคอยช่วยเหลืออย่างแข็งขัน นอกจากนี้ยังมี ซานฮุโจริ หรือคลีนิกหลังคลอดที่คอยช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องและให้การดูแลลูกอย่างดีที่สุด

แต่ถึงแม้จะมีการส่งเสริมอย่างเป็นระบบแบบนั้น การให้นมลูกคนแรกของฉันก็เป็นไปอย่างยากลำบากซึ่งฉันไม่ได้คาดคิดมาก่อน   ฉันปวดเมื่อยตัว เจ็บหน้าอก และเหนื่อยจนท้อ จนเกือบต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง

ทว่า ความเชื่อที่ฝังแน่นต่อประโยชน์ของนมแม่ทำให้ฉันไม่ลดละ ฉันพยายามอดทนเอาชนะปัญหาต่าง ๆ โดยขอคำปรึกษาจากพยาบาลและขอความช่วยเหลือจากสามีและแม่ และเผชิญสภาวะขึ้น ๆ ลงๆ อยู่สักพัก จนกระทั่งทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางทำให้การให้นมลูกง่ายขึ้น อาการเจ็บปวดเหนื่อยล้าก็เริ่มลดลง จนในที่สุดฉันก็สามารถให้นมลูกได้อย่างมีความสุขและรู้สึกถึงสายใยแห่งความรักและผูกพันระหว่างฉันกับลูกอย่างบอกไม่ถูก ประสบการณ์และการเรียนรู้เหล่านี้ช่วยให้ฉันให้นมลูกได้ง่ายขึ้นมากเมื่อมีลูกคนที่สองและสาม

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแม่ทุกคนจะได้รับโอกาสแบบเดียวกัน ยังมีแม่จำนวนมากที่ไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากครอบครัว ระบบสุขภาพ ที่ทำงาน และรัฐบาล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ

การส่งเสริมให้แม่และสังคมในวงกว้างตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญแรกสุดในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย เพราะความต้องการของแม่และผู้คนในสังคมจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดนโยบายที่เป็นมิตรกับเด็ก ตลอดจนบริการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและช่วยฝึกคุณแม่มือใหม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ โรงพยาบาลควรมีนโยบายให้ทารกได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดและไม่แยกทารกกับแม่หลังคลอด นอกจากนี้หน่วยงานสาธารณสุขยังควรปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กอย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงการห้ามแจกจ่ายตัวอย่างผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับทารกในโรงพยาบาล

162800572735

คยองซัน คิม

ในขณะเดียวกัน แม่ต้องการการสนับสนุนจากนายจ้างและรัฐบาลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด นโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การให้สิทธิลาคลอดได้อย่างน้อย 18 สัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง ตลอดจนสิทธิลาคลอดสำหรับพ่อ การจัดมุมนมแม่ที่สะอาดเพื่อให้แม่บีบเก็บน้ำนมได้ในที่ทำงาน หรือการมีบริการดูแลเด็กเล็กในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ นโยบายที่ชัดเจนเหล่านี้คือการลงทุนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และอนาคตของสังคม

ฉันก็ไม่ต่างจากแม่ทุกคนที่อยากเห็นลูกตนเองเติบโตอย่างแข็งแรงและสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ การที่แม่และเด็กทุกคนในประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างแท้จริงนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และครอบครัว  และท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดเช่นนี้   เราจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเด็ก ทั้งในบ้าน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน ตลอดจนสังคมโดยรวม.