รู้จัก ‘เกาะโลซิน’ กับมุมมองทางกฎหมายในยุค 4.0
เกาะโลซินเป็นหนึ่งในจุดภูมิศาสตร์ทางทะเล ที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับประเด็นทางกฎหมายที่หลากหลาย
บทความโดย ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ในปัจจุบันพื้นที่ทางทะเลของประเทศไทยทั้งฟากฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดา มันถูกใช้งานเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเดินเรือ การทำประมง การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ หรือการท่องเที่ยวสันทนาการอย่างการดำน้ำลึกและการท่องเที่ยวทะเล (Recreational Sea Traveling) เป็นต้น
เกาะโลซินตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีลักษณะเป็นกองหินใต้ทะเล คล้ายกับภูเขาหินขนาดย่อมที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร ไม่มีหาดทรายหรือต้นไม้ใด ๆ มีเพียงประภาคารตั้งโดดเด่นเป็นจุดสังเกตแก่นักเดินเรือเท่านั้น แต่เนื่องจากพื้นที่นี้มีประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจในหลายแง่มุมจึงทำให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
ในยุค 4.0 นี้ประเทศไทยได้ชูนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจประเด็นการจัดการพื้นที่ใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงกลับมาได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากการประชาสัมพันธ์แนวความคิดนี้ของธนาคารโลก (World Bank) ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลได้
เกาะโลซินนี้แม้ตามสภาพทางภูมิศาสตร์จะเป็นเกาะเล็ก ๆ แต่กลับมีความสำคัญมหาศาลในด้านความมั่นคงและอาณาเขตทางทะเลรวมถึงการสะท้อนแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
ข้อขัดข้องทางกฎหมายประการแรกเมื่อแต่ละประเทศเริ่มมีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล ตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล ทำให้เกิดความทับซ้อนกันโดยเฉพาะทะเลในเขตน่านน้ำรอยต่อไทย-มาเลเซียนั้นมีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวางและเคยเป็นประเด็นความขัดแย้งในอดีต
เมื่อสำรวจพบว่าใต้ทะเลเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ทั้งสองรัฐต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว จนได้จัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซียในปี พ.ศ. 2533
ประการที่สองความจำเป็นด้านทรัพยากรทางทะเล เกาะโลซินเคยเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งหากินของสัตว์ทะเลคุ้มครองและสัตว์ทะเลหายากจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ (Whaleshark) ปลาโรนัน (Guitarfish) ปลากระเบนราหู (Manta ray) ปลากระเบนนก (Eagle ray) เต่ากระ (Hawksbill turtle) และเต่าตนุ (Green turtle)
นอกจากนี้เกาะโลซินยังเป็นแหล่งทรัพยากรทางชีวภาพต่าง ๆ ที่สมบูรณ์มากในช่วงระยะเวลาสิบปีที่มา ประกอบด้วยแนวปะการังที่มีสภาพสมบูรณ์ดีมาก มีคุณภาพน้ำบริเวณอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งพันธุ์สัตว์น้ำอื่น ๆ ตามแนวปะการังที่หลากหลายเป็นอย่างมาก หากแต่ในระยะสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติได้ทะเลอย่างมีนัยสำคัญอันเกิดจากการหย่อนยานในด้านการจัดการพื้นที่ส่งผลให้มีสิ่งแปลกปลอมต่อทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล เช่น ขยะและสารเคมี มลพิษทางทะเลในรูปแบบต่าง ๆ
และที่เป็นที่ตกใจต่อสังคมอย่างมากคือการถูกปกคลุมด้วยอวนขนาดใหญ่ครอบคลุมอาณาบริเวณแนวปะการังเป็นวงกว้างอันเป็นผลจากการเดินเรือประมงที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ประการต่อมาความจำเป็นด้านการใช้ประโยชน์ทางการประมง จากข้อมูลทั่วไปพบว่าพื้นที่การประมงบริเวณเกาะโลซินถือได้ว่าเป็นพื้นที่การประมงที่มีคุณภาพของชาวประมง และมีผลผลิตประมงสูง จากการสำรวจพบสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจจำนวน 47 ชนิด ประมาณการมูลค่าจับสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวรวม 150 ล้านบาทต่อปีในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้เกาะโลซินยังเป็นแหล่งประมงให้ชาวประมงท้องถิ่นสามารถเข้ามาจับปลาได้อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมประมงโดยเรือประมงต่างชาติซึ่งใช้อวนและลอบขนาดใหญ่เกินกว่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ อีกทั้งการจัดการพื้นที่ ปริมาณและความถี่ในการจับสัตว์น้ำในพื้นที่เกาะโลซินอันเป็นเขตการทำประมงที่ห่างไกล อาจทำได้อย่างไม่ครอบคลุมและยากแก่การควบคุม ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดข้อขัดข้องในประเด็นนี้ เป็นเหตุให้ประมงพาณิชย์ต่างชาติรุกล้ำเข้ามาทำการประมงอย่างผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำของประเทศไทย
ประการสุดท้ายคือการใช้ประโยชน์ทางการสันทนาการดำน้ำลึก เกาะโลซินเป็นแหล่งดำน้ำลึก (scuba diving) ที่มีความสวยงามอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ถึงแม้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ และสามารถดำน้ำได้ทั่วบริเวณภายในวันเดียว แต่จากการสำรวจพบว่าการดำน้ำที่เกาะโลซินในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมามีนักดำน้ำเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากและมากับเรือนักดำน้ำซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อแนวปะการังได้ เพราะนักดำน้ำที่ขาดประสบการณ์ และการปล่อยมลพิษทางทะเลจากเรือนักดำน้ำ รวมถึงผลกระทบต่อการรบกวนสัตว์ทะเล
ดังนั้น จึงอาจเป็นสาเหตุแห่งความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติรูปแบบหนึ่งหากไม่มีการควบคุมโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลทำให้ความสวยงามของแนวปะการังและจำนวนสัตว์น้ำน้อยใหญ่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
จะเห็นได้ว่าแม้อ้างอิงตามแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวง เกาะโลซินเองจะเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว แต่จากประเด็นปัญหาทางกายภาพและปัญหาทางกฎหมายข้างต้น อาจยากที่จะผลักดันพื้นที่นี้ให้เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจใหม่ทางน้ำตามนโยบายเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ด้วยเหตุที่ประเทศไทยยังขาดการดำเนินงานเรื่องของการแบ่งเขต การใช้ประโยชน์ทางทะเลอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ที่สำคัญยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพ.ศ. 2558 การกำกับดูแลร่วมกันของกรมประมงและของกรมอุทยานแห่งชาติรวมถึงการกำกับดูแลธุรกิจการท่องเที่ยวทางน้ำที่อาจไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงควรต้องมีการพิจารณาถึงการบังคับใช้และการกำหนดบทลงโทษจากกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น.