ย้อนไปดูมุมมองทางสองแพร่งของ ‘ลาสซโล’
'โลกยังมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความผาสุกแบบยั่งยืน จะเกิดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของชาวโลกต่อเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านั้น' มุมมองของลาสซโล
หลังเวลาผ่านไป 9 ปี ไม่มีการพูดถึงปฏิทินของชาวมายาซึ่งจบลงตรงกับปี 2555 กันอีก อาณาจักรมายาล่มสลายไปหลายร้อยปีแล้ว ชาวโลกปัจจุบันจึงไม่สามารถขอคำอธิบายความหมายของปฏิทินนั้นจากชาวมายาได้ส่งผลให้ตีความหมายกันไปต่าง ๆ นานารวมทั้งในแนวที่ว่าโลกจะล่มสลายในปีนั้น
นักคิดชื่อดังชาวฮังการี เออร์วิน ลาสซโล เสนอมุมมองน่าสนใจไว้เมื่อปี 2549 ผ่านหนังสือชื่อ The Chaos Point: The World at the Crossroads ซึ่งอาจแปลว่า “จุดโกลาหล: โลก ณ ทางสองแพร่ง” (สำหรับผู้สนใจแต่ขาดเวลาอ่าน หรือไม่แตกฉานในภาษาอังกฤษ มีบทคัดย่อภาษาไทยให้ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์วิทยาทานของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)
ในช่วงที่ลาสซโลเขียนหนังสือเล่มนั้น มีเหตุการณ์เลวร้ายหลายอย่างซึ่งดูเหมือนจะปูทางพาโลกไปสู่ความล่มสลาย แต่ลาสซโลมองว่านั่นเป็นเพียงทางสองแพร่ง โลกยังมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความผาสุกแบบยั่งยืนซึ่งจะเกิดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของชาวโลกต่อเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านั้น เช่น
- ความผิดหวังและความไม่พอใจของกลุ่มชนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพราะช่องว่างระหว่างผู้มีอำนาจและโภคทรัพย์กับผู้ไม่มีทรัพย์นับวันจะยิ่งกว้างขึ้น
- ชาวโลกใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายเพื่อแก้ปัญหาเพิ่มขึ้น
- ความคิดชนิดตกขอบขยายออกไปในวงกว้างขึ้น อิสลามแบบตกขอบขยายออกไปในโลกมุสลิม นาซีใหม่ขยายออกไปในยุโรปและการหลงศาสนาแบบบ้าคลั่งขยายออกไปในส่วนอื่นของโลก
- การตอบโต้การก่อการร้ายจากฝ่ายรัฐนำไปสู่สงครามและความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง เอเชีย อเมริกากลางและจุดเดือดอื่น ๆ
- ประเทศส่วนใหญ่ผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและขาดอาหารเพิ่มขึ้นในขณะที่อาหารสำรองที่มีอยู่ลดลง
- การขาดน้ำสะอาดใช้ขยายวงกว้างขวางและร้ายแรงขึ้น
- ระบบนิเวศของโลกขาดสมดุลอย่างร้ายแรงขึ้น
แม้ชาวโลกจะมีเวลาเพียง 5 ปีที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อเปิดทางให้โลกพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน แต่ลาสซโลเชื่อว่าชาวโลกยังทำได้ ความเชื่อของเขาวางอยู่บนฐานของทฤษฎี “ผีเสื้อกระพือปีก” (Butterfly Effects) ของเอ็ดเวิร์ด ลอเลนซ์ ที่ว่า ในภาวะเหมาะสมความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจะก่อให้เกิดผลใหญ่หลวง
ประกอบกับตัวเลขจากผลสำรวจในสหรัฐซึ่งพบว่าคนอเมริกันราว 25% มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแนวคิดพร้อมกับได้ปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิตของตนไปสู่ความเป็นอยู่แบบเรียบง่ายในแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” คนกลุ่มนี้ได้เริ่มดำเนินชีวิตในแนวใหม่อย่างจริงจังและอย่างเงียบ ๆ จึงไม่ค่อยมีใครมองเห็นเพราะคนอเมริกันราว 48% ยังยึดมั่นในการดำเนินชีวิตตามแนวคิดที่ว่ายิ่งบริโภคมากเท่าไรชีวิตยิ่งดีเท่านั้น
จากวันที่หนังสือเล่มนั้นพิมพ์ออกมาถึงวันนี้เวลาได้ผ่านไป 15 ปีแล้ว ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่ามีการสำรวจในสหรัฐเรื่องคนอเมริกันได้เปลี่ยนความคิดมาดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงในอัตราที่สูงกว่า 25% หรือไม่ ภาพที่ปรากฏออกมาดูจะบ่งชี้ว่าพวกเขาไม่ได้ทำ
ในขณะเดียวกันเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่ลาสซโลอ้างถึงก็มิได้มีทีท่าว่าได้เปลี่ยนไปในทางที่ดี ด้วยเหตุนี้ จึงพอสรุปได้ว่าบนฐานของการวิเคราะห์ของเขา โลกได้เดินเข้าสู่ทางแห่งความล่มสลายแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นจึงอยู่ที่สภาพของทางสายนั้นจะเป็นอย่างไรและเราจะทำอย่างไร
วิกฤติอันเกิดจากโควิด-19และเหตุการณ์เลวร้ายอีกหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในหลายส่วนของโลกคงบ่งชี้ว่าต่อไปนี้โลกจะมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น ส่วนการจะทำอย่างไรคงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ในขณะนี้คงมีผู้มองว่าไหน ๆ โลกก็จะล่มสลายต้องเร่งหาความสำราญโดยการใช้จ่ายและบริโภคให้สมใจก่อนที่จะไม่มีโอกาส นั่นคงเป็นการเร่งให้วันล่มสลายมาถึงไวขึ้น
มุมมองที่เหมาะสมกว่าจึงน่าจะได้แก่การยึดมั่นว่า ยังไม่สายเกินไปที่ป้องกันมิให้โลกเดินเข้าสู่ทางแห่งความสลายแบบกู่ไม่กลับพร้อมกับเตรียมใจไว้รับสภาพความยากลำบากและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตให้แข็งแกร่งไว้เสมอ.