‘Food Delivery' เครื่องมือพา 'คนจีน' ออกจาก 'ความจน'

‘Food Delivery' เครื่องมือพา 'คนจีน' ออกจาก 'ความจน'

"Food Delivery" จีนมูลค่าตลาดเกินแสนล้านหยวน นำพา "คนจีน" ออกจากความจน ภายใต้ "การตลาดที่มีหัวใจ" เคล็ดลับสำคัญที่ร้านอาหารใช้มัดใจลูกค้า

โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่โอบกอดเทคโนโลยีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแนบสนิท โดยเฉพาะโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่อยู่แค่โลกออนไลน์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อกับโลกออฟไลน์ หรือที่เราเรียกว่า O2O-Online to Offline โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ตัวอย่างของ O2O ที่พวกเราต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อมีโรค "โควิด" แพร่ระบาดอย่างหนัก ไปไหนไม่ได้ แต่ปากท้องก็ยังต้องหิว ธุรกิจ O2O "Food Delivery" ลูกค้าสั่งอาหารทางออนไลน์ พนักงานส่งอาหารไปรับอาหารที่ปรุงสดโดยร้านอาหาร (ออฟไลน์) นำไปส่งให้ถึงมือลูกค้า จึงตอบโจทย์และเติบโตขึ้นอย่างยิ่งในประเทศจีน

ธุรกิจ Food Delivery ในจีน ไม่ได้เพิ่งเติบโตช่วงการแพร่ระบาดโควิด ทว่าเติบโตมาอย่างก้าวกระโดดมาตลอดระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ ตามข้อมูลจาก iiMedia แพลตฟอร์มวิจัยในประเทศจีน เคยเผยข้อมูลไว้ว่า มูลค่าตลาดธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ในจีน เติบโตสูงถึงราว 2.4 แสนล้านหยวนในปี 2561

การส่งอาหารออนไลน์ ไม่แต่เพียงสร้างรายได้แก่ร้านอาหารและเจ้าของแพลตฟอร์มอย่าง Eleme หรือ Meituan เท่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับผลเชิงบวกอย่างมากจากผลการทุ่มเทกายใจทำงานคือ พนักงานส่งอาหาร

เมื่อมีธุรกิจ Food Delivery เกิดขึ้น ผู้ที่เคยเป็นแรงงานอพยพต่างถิ่น มาจากต่างจังหวัด-เมืองชนบทของจีน ที่มาหาเช้ากินค่ำในเมืองใหญ่ ก็ได้ทำงานที่เป็นหลักแหล่งและรายได้แน่นอนมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาความยากจนที่จีนพยายามแก้ไขมาโดยตลอดและประกาศความสำเร็จไปเมื่อ 2020 ดีขึ้น

กล่าวคือ ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี มีผลช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจีนฐานะยากจน ซึ่งสัดส่วนหลักเป็นคนจีนเขตชนบท โดยรายงานจาก China Plus สื่อจีนออนไลน์ เมื่อปี 2562 ระบุ 77% ของ 2.7 ล้านคนที่ทำงานเป็นพนักงานส่งอาหารของธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์เจ้าต่างๆ มาจากเขตชนบทและยากจน โดยประมาณ 30%ของพนักงานส่งอาหารเหล่านี้ ได้รับรายได้ขั้นต่ำ 5,000 หยวนต่อเดือน (ประมาณ 25,000บาท) และจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

ครึ่งหนึ่งของพนักงานส่งอาหารที่มาจากเขตชนบท จะเลือกเข้ามาทำงานในเมืองเอก และเมืองสำคัญของมณฑลตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในมณฑลหูหนาน ตอนกลางของจีน มณฑลกว่างตง (คนไทยเรียก กวางตุ้ง) เป็นมณฑลที่มีพนักงานส่งอาหารมากที่สุด ตามมาด้วย เจียงซู, เจ้อเจียง, เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง

ด้านรายงานจาก 电商报 สื่อด้านธุรกิจจีน เผยให้เห็นแนวโน้มคนจีนหันมาทำงานเป็นพนักงานส่งอาหารมากขึ้น อยู่ที่ 45.26% ตามมาด้วย อายุ 30-40 ปี คิดเป็น 35.57% มากกว่า 40 ปีขึ้นไป 12.94% และกลุ่มสุดท้าย ต่ำกว่า 20 ปี 6.23% สอดคล้องกับ Eleme แพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์รายใหญ่ของจีนที่เผยว่า ตั้งแต่ช่วงแพร่ระบาดโควิดปี 2563 ที่ผ่านมา วัยรุ่นจีนหันมาทำงานเป็นคนส่งอาหารกันมากขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมปลาย และนักศึกษามหาวิทยาลัย มาทำเป็นงาน Part-Time หารายได้เสริมระหว่างปิดเทอม และยังไม่สามารถไปเรียนตามปกติที่มหาวิทยาลัย

การแพร่ระบาด "โควิด" ถือเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนมาใช้บริการ สั่งอาหารออนไลน์ มากขึ้นกว่าก่อนโควิด จากเดิมที่ก็ใช้บริการกันเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ทำให้จำนวนพนักงานส่งอาหารเพิ่มขึ้นตามด้วย

สำหรับรายได้ของพนักงานส่งอาหารออนไลน์ในจีน

อ้ายจง ขอสรุปตามข้อมูลจาก 点团 (Meituan) อีกหนึ่งแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์จีนชื่อดัง ดังนี้

  • ส่วนใหญ่ 49.14% ของพนักงานส่งอาหาร มีรายได้ระหว่าง 4,000 - 8,000 หยวน (ราว 20,000 - 40,000 บาท)
  • 21.70% รายได้ระหว่าง 8,001 - 10,000 หยวน (ราว 40,000 - 50,000 บาท)
  • 19.89% รายได้ต่ำกว่า 4,000 หยวน (ราว 20,000 บาท)
  • 9.27% รายได้มากกว่า 10,000 หยวน (ราว 50,000 บาท)

ถ้าดูจากรายได้จะเห็นว่ารายได้ค่อนข้างดีทีเดียว และพนักงานส่งอาหารในจีนจำนวนไม่น้อย ขับส่งอาหารให้มากกว่าหนึ่งแพลตฟอร์มทำให้ได้รายได้มากขึ้นไปอีก แต่แลกมาด้วยการทำงานอย่างหนักและความปลอดภัยเวลาใช้รถใช้ถนน เนื่องจากต้องรีบทำเวลาส่งอาหาร

กลับมาที่ประเทศไทย ธุรกิจ Food Delivery ถือว่าอยู่ช่วงขาขึ้นเช่นกันในบ้านเรา ทำให้มีร้านอาหารทั้งเพิ่งเปิดใหม่หรือเปิดมานาน ต้องการเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์ม Delivery เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและเข้าถึงลูกค้า แน่นอนว่าการแข่งขันจึงสูง หลายร้านจัดโปรโมชั่นร่วมกับแพลตฟอร์ม แต่การลดแลกแจกแถมหรือการจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย อาจไม่ได้ตอบโจทย์เสมอไป สิ่งสำคัญที่ควรทำคือ การเข้าไปนั่งในใจลูกค้า ทำให้เขาเรียนรู้ถึงบริการที่ดี รสชาติอาหารที่เยี่ยม และกลายเป็นลูกค้าประจำของเรา ทำให้ผมจงนึกถึง "กลยุทธ์การตลาด" ของร้านอาหารในจีน ที่เอาชนะใจลูกค้า ทำให้ลูกค้าติดใจ ให้เรตติ้งดีดี และสั่งเรื่อยๆ ผ่าน Food delivery

เคยมีรุ่นน้องของผมเข้ามาสอบถามว่า "สั่งอาหารออนไลน์ พออาหารมาถึง ก็ต้องตกใจกับโน้ตเล็กๆ เป็นภาษาจีน ที่อ่านจับใจความได้ว่า จ๊วฟ! (หอมแก้ม) จึงสงสัยว่า เอ๊ะ! ร้านอาหารที่จีน เป็นแบบนี้หมดเลยหรอ หรือจะมีคนแอบชอบ เลยแอบมาติดโน้ตไว้?"

ขอบอกเลยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ "การตลาดที่มีหัวใจ – Heartful Marketing" ทางร้านอาหารในจีนจะเขียนโน้ตเล็กๆ เพื่อสร้างความประทับใจ และเรียกคะแนนรีวิวดีดีๆ (เวลาซื้อของผ่านอีคอมเมิร์ซก็เป็นเช่นนี้) โดยมักจะเขียนว่า 好评啊!บอกเรา ให้คะแนนและรีวิวเราดีดีนะ " เป็นการตลาดขั้นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการในจีนใช้กัน ตั้งแต่สมัยการค้าออนไลน์ในจีนถือกำเนิดใหม่ๆ เมื่อ 10กว่าปีมาแล้ว

จนมาถึงยุคสั่งอาหารออนไลน์ และ ณ ขณะนี้ เริ่มพัฒนาจากเป็นแค่เขียนโน้ต มาเป็นการวาดรูปการ์ตูนหรือภาพที่น่ารักๆ ไม่ว่าจะวาดด้วยมือ หรือ print จนกลายเป็นกระแสโลกออนไลน์หลายต่อหลายครั้ง มีลูกค้าบางคนถึงขั้นรีเควสชอบให้วาดนู่นนี่เป็นพิเศษด้วยนะ

กล่าวโดยสรุป หากร้านอาหารไหนในจีน ที่อยากเป็นที่จดจำ หรืออาจจะกลายเป็นกระแสสังคมจีน ก็มักจะใช้กลเม็ดสร้างความประทับใจแนวนี้ ซึ่งได้ผลดีทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากทำควบคู่ไปกับการใส่ใจในคุณภาพอาหาร

อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีบางเคส ที่มีคนแอบชอบเราจริงๆ มาแอบติดโน้ตให้เรา โดยเนียนว่ามาจากร้านที่เราสั่ง ก็เป็นไปได้นะ นี่ยังคงเป็นความหวังสำหรับหนุ่มโสดและสาวโสดอีกด้วย