‘บทบาทคนไทย’ ในเวทีระหว่างประเทศ
ในช่วงผมประจำการอยู่ตามสถานทูตไทยในต่างประเทศ 3แห่ง รวมประมาณ 10 ปี เพื่อนต่างชาติมอง คนไทยเป็นคนที่มีความสามารถ อัธยาศัยดี เข้าคนต่างชาติดี
พอผมไปประจำการที่คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ช่วงปี 2555-2558 ยิ่งเห็นภาพว่า มีโอกาสที่คนไทยจะเข้ามาทำงานในองค์การระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น ในหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก (World Trade Organisation) องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation) หรือองค์กรระดับเล็กกว่า และสำนักงานขององค์การเหล่านี้ทั่วโลก
ในอดีตที่ผ่านมา มีบุคคลระดับแนวหน้าของไทยไปนำองค์กร เช่น เป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก และเลขาธิการอาเซียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคนไทยได้รับตำแหน่งตามกลไกในกรอบคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแหงสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) เป็นระยะๆ
อย่างไรก็ดี ผมขอเน้นเรื่องบุคลากรคนไทยในทุกระดับ ไม่ใช่แค่ระดับผู้นำองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีเรื่องการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก หรือมีประเด็นการสนับสนุนทางการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้อง
ข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ณ เดือน พ.ค. 2563 มีคนไทยทำงานในองค์การระหว่างประเทศประมาณ 80 กว่าคน ในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งรวมถึงระดับบริหารและระดับผู้ปฎิบัติในสำนักงาน สาขาขององค์กรเหล่านั้นทั่วโลก โดยเป็นหญิง 49 คน มิได้มีแค่ในระบบสหประชาชาติ
แต่หากมีคนไทยในองค์กรชำนาญการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติ และที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the UN High Commissioner for Refugees) ที่บังกลาเทศ 1 คน ที่เซาท์ซูดาน 2 ที่ไนเจอร์ 1 ในทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ที่ออสเตรีย 9 คน โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ที่เซาท์ซูดาน 1 คน
คนที่เหมาะกับการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ต้องมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล อย่างน้อยในมุมมอง มีทักษะในการทำงานกับคนต่างชาติ และมองว่าตนเองเป็นพลเมืองโลก (global citizen)
เหตุใด มีคนไทยจำนวนน้อยทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ?
ผมคิดว่า นอกจากเรื่องโควตาสัญชาติที่บางองค์กร มีเรื่องการสมัครเข้าทำงานที่ยาก เพราะต้องแข่งขันกับคนต่างชาติ จากโพลทั่วโลก และบางครั้งต้องไปประจำสำนักงานในต่างแดน อาจอยู่ในสภาวะสงครามหรือมีความเป็นอยู่ลำบาก ที่ผ่านมา คนไทยอาจไม่ได้เห็นว่ามีโอกาสนี้เปิดตั้งแต่ต้น
ในปัจจุบัน เชื่อว่าคนไทยมีความเป็น “พลเมืองโลก” มากขึ้น สนใจประเด็นท้าทายที่โลกเผชิญ และสนใจที่จะหาประสบการณ์ในต่างประเทศ หากเป็นเยาวชนไทยก็สามารถสมัครเข้าเป็น junior professional เพื่อลองทำงานแนวนี้
วันหนึ่ง เราอาจได้เห็นเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกหรือองค์การแรงงานโลก เป็นคนไทยเป็นครั้งแรก หรือผู้นำกองกำลังสหประชาชาติที่สำคัญอีกครั้ง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น วันหนึ่ง อาจมีคนไทยทำหน้าที่สนับสนุนงานบริหาร งานด้านปฏิบัติการ หรือดูแลงบประมาณขององค์การระหว่างประเทศอยู่ในทั่วทุกมุมโลกมากขึ้น นับเป็นการช่วยปิดทองหลังพระ เพื่อให้โลกใบนี้เป็นโลกที่น่าอยู่มากขึ้น