ความเท่าเทียมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังวิกฤติ

ความเท่าเทียมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังวิกฤติ

สวัสดีครับ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ได้กลายเป็นอุปสรรคใหม่ที่สำคัญอีกประการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ให้ครอบคลุมกับประชากรทุกกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤติของช่องว่างในด้านความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ได้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากรายงานของ World Economic Forum ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่าเราต้องใช้เวลาถึง 136 ปี เพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา ขณะที่เราต้องใช้เวลาถึง 256 ปี ในการปิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในด้านการเงินเพียงอย่างเดียว

เมื่อไม่นานมานี้ ที่ประชุม G20 ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้นำจากประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ แคนาดา และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ได้เห็นพ้องต้องกันว่าการผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมุ่งสู่เป้าหมายที่ผู้นำต่างๆ ได้ร่วมกันตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2557 นั่นก็คือ“ลดช่องว่างในด้านการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจระหว่างชายและหญิงในแต่ละประเทศลงร้อยละ 25 ให้ได้ภายในปี 2568” เพื่อ “เพิ่มการเติบโตทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญตลอดจนขจัดความยากจนและความไม่เท่าเทียม” นอกจากนี้ McKinsey Global Institute ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ตอกย้ำให้เห็นถึงคุณค่าในเป้าหมายนี้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นด้วยว่าการลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในกลุ่มพนักงานอาจมีส่วนที่ช่วยเพิ่ม GDP โลกเพิ่มขึ้นได้ถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11) โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด คือ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ

นอกจากนี้การส่งมอบการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ผู้หญิงถือได้ว่าเป็น “วงจรการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง(Virtuous Cycle)” เนื่องจากผู้หญิงที่เป็นผู้ควบคุมการใช้จ่ายนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้เงินไปกับผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยเพิ่มสวัสดิการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว อาทิ อาหาร การดูแลสุขภาพ การศึกษา การดูแลบุตรหลาน สินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงเงินออมที่เพิ่มมากขึ้น

ตัวอย่างที่เด่นชัดในการสร้างความเท่าเทียมคือกรณีศึกษาในประเทศไนจีเรีย มีการนำการบริการทางการเงินแบบดิจิทัลมาใช้เพื่อช่วยเหลือแม่ค้าที่อยู่ตามแผงในตลาดสด อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงวิธีการที่ชาญฉลาดในการนำผู้หญิงเข้าสู่การบริการทางการเงินในระบบ ธนาคาร Diamond ของไนจีเรียได้ร่วมมือกับ Womens World Banking ในการสร้างบัญชีออมทรัพย์ดิจิทัลที่ชื่อว่า BETA Savings ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อจัดการกับปัญหาที่ผู้หญิงหลายคนไม่ต้องการเสียเวลาและทิ้งร้านของตนเพื่อไปเปิดบัญชีที่สาขาโดยตรง ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และทำการตลาดที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิงอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2556 บัญชีออมทรัพย์ BETA Savings ได้ดึงดูดลูกค้าผู้หญิงให้มาใช้บริการมากกว่า 275,000 ราย และในปัจจุบัน ธนาคาร Diamond ยังได้ขยายขอบเขตการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการหญิงในประเทศไนจีเรียเพื่อให้พวกเธอสามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นและเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

เมื่อพิจารณาบริบทในประเทศไทย นับเป็นเรื่องที่โชคดีที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นเพศหญิงเข้าถึงการบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการหญิงจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจึงยังมีความจำเป็น โดยหนึ่งในความพยายามที่จะสนับสนุนแหล่งเงินทุนดังกล่าวคือ การออกพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ(Gender Bond) โดย บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นการจัดหาแหล่งสินเชื่อให้แก่กิจการ SME ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือผู้บริการทั้งนี้ หากพิจารณาลึกลงไปในระดับโครงสร้าง ประเทศไทยนับว่ามีความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐานสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การโทรคมนาคมที่ครอบคลุมไปยังพื้นที่ห่างไกล การออกแบบการบริการทางการเงินที่ไม่ซับซ้อน รวมไปถึงนโยบายภาครัฐที่ให้โอกาสแก่ผู้ประกอบการหญิงชายเข้าถึงแหล่งเงินโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งก็ถือเป็นข้อได้เปรียบที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

 ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่องนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องหาวิธีการเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด เริ่มได้จากการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Smart Financial Infrastructure ซึ่งรวมถึงโครงการ Digital Supply Chain Finance ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมมือกันผลักดันเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างสะดวกและรวดเร็ว ส่งเสริมการมีบทบาทของผู้หญิงในองค์กร ออกแบบกฎและระเบียบที่เอื้อต่อการเข้าถึงการบริการของผู้ประกอบการหญิง ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นปัจจัยที่ไม่เพียงแต่จะช่วยภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประเทศไทยกลับมาสู่ในจุดที่เคยเป็นหลังวิกฤติครั้งนี้อย่างรวดเร็วอีกด้วยครับ