อะไรคือ 'แผนจัดการ -วัคซีนโควิดเทพ'

อะไรคือ  'แผนจัดการ -วัคซีนโควิดเทพ'

ทั่วโลกอลหม่าน สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ถูกซ้ำเติมด้วยไวรัสกลายพันธุ์ที่แข็งแกร่ง และดื้อยามากขึ้น

บรรดาวัคซีนโควิด-19 ที่อนุมัติใช้กันอยู่ขณะนี้ ไม่ว่า "เทคโนโลยี หรือยี่ห้ออะไร" ก็พากันทบทวนประสิทธิภาพกันเป็นแถว 

ล่าสุด คณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านโรคระบาด (SAGE) ของรัฐบาลอังกฤษ จัดทำรายงานเรื่อง “วัคซีนจะป้องกันโควิด-19 ได้นานแค่ไหน” ระบุ มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และป้องกันอาการป่วยรุนแรง เมื่อเวลาผ่านไป จะมีประสิทธิภาพลดต่ำลง ดังนั้นมีแนวโน้มว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนจะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี

ข้อมูลวันที่ 17 ส.ค.2564 อังกฤษ เป็นประเทศอันดับ 9 ของโลก มีอัตราฉีดวัคซีนโควิดรุดหน้า คิดเป็น 60.9% ของประชากรประเทศ ที่ผ่านมา อังกฤษอนุมัติใช้วัคซีน 3 ชนิด ได้แก่ ออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์-ไบออนเทค และโมเดอร์นา โดยข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะก่อนหน้า วัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิภาพกว่า 95% 

รัฐบาลอังกฤษเริ่มกังวลถึงประสิทธิภาพวัคซีนที่ต้องรับมือกับสายพันธุ์เบตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในอังกฤษ แถมยังไม่รู้ว่า หลังฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว จะต้อง "ฉีดซ้ำ" อีกครั้งเมื่อไหร่  

กว่าจะไปพูดถึงจุดนั้น หลายประเทศยังชุลมุนกับการจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงทุกคนในประเทศ ซึ่งก็เป็นปัญหาพอๆ กับ "ไทย" ผู้เขียนจะขอเล่าประสบการณ์จากเพื่อนคนไทยและครอบครัวซึ่งอยู่ที่นั้น เพื่อให้เห็นภาพที่คล้ายและต่างออกไปจากประเทศไทย

"สุทธินี กาเร็ท" เจ้าของธุรกิจชิปปิงในอิสราเอล เล่าว่า ประเทศนี้แทบเป็นห้องแล็บทดลองใหญ่ให้กับวัคซีนโควิดให้ไฟเซอร์ ซึ่งการที่รัฐบาลอิสราเอลบริหารจัดการประชาชนแต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนตามแผน  ทำให้อิสราเอลฉีดวัคซีนแล้วกว่า 5.42 ล้านคน แต่ใช่ไม่มีปัญหา หลายคนการ์ดตก แถมมีระบาดสายพันธุ์เดลตาซ้ำ 

ยิ่งมีผลวิจัยอิสราเอลชี้ ประสิทธิภาพวัคซีนลดเหลือ 39% เมื่อเจอสายพันธุเดลตา ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีการรับมือไวรัสเข้มขึ้น แกมบังคับประชาชนต้องโชว์หลักฐานฉีดวัคซีนโควิด ถึงจะเข้าร้านอาหาร ชอปปิง ดูคอนเสิร์ต หรือใช้พื้นที่สาธารณะได้

"โสภาพร คอร์ซ" เจ้าของเพจดัง “หย่งศรี” ลีฟอินเยอรมนี  บอกว่า ปัญหาการลงทะเบียนวัคซีนโควิดก็มีให้เห็น โดยเฉพาะเกิดขึ้นกับตนเอง ไม่เพียงลงแล้วเงียบหายไปน่าใจหาย จนสามีดิ้นรนไปหานัดหมายใหม่ ก็ยังถูกยกเลิกนาทีสุดท้าย แต่ก็ไม่ลดละความพยายามจนได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก กลางเดือน มิ.ย. และได้เข็มสองต้องประสงค์ในปลายเดือน ก.ค. (ห่างกันเกือบสองเดือน)

"มิรา จาราพา" เพื่อนลูกครึ่งไทยในรัฐเท็กซัส ชี้ว่า  สหรัฐฉีดวัคซีนให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่โดสแรกครบตามเป้า 70% เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 แต่อย่าถามว่า มีคนเอเชียได้ฉีดเท่าไร เอาเป็นว่ารู้กันดี ในสังคมสหรัฐ ชาวอเมริกันจัดอยู่ชนชั้นที่หนึ่ง ชาวละตินอเมริกาชนชั้นสอง คนผิวสีเป็นชนชั้นสาม และคนเอเชียเป็นชนชั้นถัดไป แม้ระบบบริหารจัดการวัคซีนในสหรัฐดี แต่หลายคนฉีดวัคซีนแล้วกลับมาติดโควิดใหม่ หลักๆน่าจะมาจากความเลินเล่อส่วนบุคคล 

"อู๋ เจียชี" นักวิจัยในกรุงปักกิ่ง มองว่า สถานการณ์โควิดยังไม่มีความแน่นอน สิ่งสำคัญที่จะนำพาคนในชาติผ่านสถานการณ์โควิดไปด้วยกัน นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพราะ "วัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย" ฉีดแล้วมีโอกาสติดไวรัสใหม่ แต่สิ่งขาดไม่ได้คือ ผู้นำที่เข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์นำเสนอแนวทางรับมือโควิด-19 ที่ต้องเป็นที่ยอมรับได้ และต้องมีมุมมองต่อ "ระเบียบโลกหลังโพสต์โควิด-19" เพื่อให้คนในชาติยอมเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อสังคม และประเทศ