เมื่อเราต้องเลือก 'หลักความเท่าเทียม' & 'หลักความเสมอภาค'

เมื่อเราต้องเลือก 'หลักความเท่าเทียม' & 'หลักความเสมอภาค'

มาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมา โดยเฉพาะมาตรการเชิงสวัสดิการ เยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ มักมีคำถามตามมาเสมอว่า มีความเท่าเทียมไหม เสมอภาคหรือเปล่า

ผมเชื่อว่า ทุกๆ มาตรการทางเศรษฐกิจที่ออกมา โดยเฉพาะมาตรการเชิงสวัสดิการ เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ มักจะมีคำถามตามมาเสมอว่า มีความเท่าเทียมไหม ? มีความเสมอภาคหรือเปล่า ? ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ 100% ที่จะมองไปในทิศทางเดียวกัน ยิ่งประชาชนยิ่งไปคนละทาง ทำไมคนข้างบ้านได้มากกว่าฉัน ? ทำไมต้องตัดสิทธิฉัน ? เป็นต้น

ที่น่ากังวลกว่านั้น คือ นโยบาย มาตรการ หรือโครงการ ที่ควรจะใช้หลักความเสมอภาคกลับใช้หลักความเท่าเทียมกันแทน ซึ่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแก้จนลดเหลื่อมล้ำตามที่ตั้งไว้ได้ ที่เห็นชัด ๆ คือ เรื่องการให้สวัสดิการในหลาย ๆ โครงการยังให้เท่ากันหมด

ทั้ง 2 หลักนี้ต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขออนุญาตใช้รูปของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ในการอธิบาย ซึ่งผมได้ขออนุญาตไว้แล้ว 

หลักความเท่าเทียม คือ ให้เท่ากันหมด (มองจาก input ที่ให้) โดยไม่สนใจฐานะ รายได้ อาชีพ อายุ และภูมิลำเนา ข้อดีคือไม่มีใครบ่นเพราะได้เท่ากัน ไม่ต้องไปเทียบกับคนอื่น ไม่ต้องใช้ข้อมูลซับซ้อน (หรือเพราะไม่มีข้อมูลเลยต้องยึดหลักนี้) ประชาสัมพันธ์ง่าย คนเข้าใจง่าย ฐานคะแนนเสียงไม่ตกหล่น

แต่อาจจะมีข้อเสีย เช่น ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของงบประมาณอาจจะไม่เหมาะสมสอดคล้องกับกลุ่มคนและพื้นที่ เช่น การให้เงินเท่ากัน คนที่มีรายได้น้อยมาก ๆ อาจจะยังไม่พ้นเส้นความยาก ผิดกับคนที่พอมีรายได้บ้างแล้ว พอได้เงินเพิ่ม เขาอาจจะพ้นเส้นความยากจนไป

ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์อีกอย่างของการให้งบประมาณเท่ากันในทุก ๆ จังหวัดหรืออาจจะไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้แตกต่างกันจนเป็นจุดเปลี่ยนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยากจนในจังหวัด ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ สะสมไปเรื่อย ๆ เป็นการส่งผ่านความยากจนและความเหลื่อมล้ำไปยังคนรุ่นถัดไป

ตัวแปรสำคัญ คือ การจัดงบประมาณลงจังหวัด หากยังให้น้ำหนักกับจำนวนประชากรและขนาดพื้นที่เป็นหลัก แต่ให้น้ำหนักกับสัดส่วนคนจนในจังหวัดน้อยกว่า จังหวัดที่ยากจนกว่าจะมีรายได้น้อยหรือยกระดับการพัฒนาไล่ทันจังหวัดที่รวยกว่าก็คงเป็นไปได้ยาก  

 

หลักความเสมอภาค คือ ให้ไม่เท่ากัน แต่เล็งที่ผลลัพธ์ว่าจะเท่ากัน (มองจาก Output ที่ได้) กรณีนี้ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น รายได้ ฐานะครอบครัว ที่อยู่ เป็นต้น แต่ผู้ทำทางเลือกของนโยบาย (Policy Options) ต้องมีข้อมูลที่มากพอในการกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และอัตราเงินที่พึงจะได้ (เมื่อฐานข้อมูลมีความละเอียดมากขึ้น Data Technology ก้าวหน้ามากขึ้น ควรหันมาใช้แบบนี้)

ข้อดีคือ มีความคุ้มค่าของเงินที่ใส่ลงไปมากกว่า เพราะเม็ดเงินลงตรงไปยังคนที่ขาดมากกว่าคนที่มี เหมาะสมกับรายได้หรือค่าครองชีพในพื้นที่นั้น ๆ และตรงไปยังพื้นที่ที่อ่อนแอมากกว่าพื้นที่ที่เข้มแข็ง เช่น คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนควรจะได้มากกว่าคนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจน ยิ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนจะยิ่งได้มาก

แต่มีข้อแม้ว่าต้องทำงานไปด้วย และยิ่งมีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนมากก็ควรจะได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ และถ้าจะใช้ความยากจนของจังหวัดตัวเองเป็นเกณฑ์ก็สามารถทำได้

ข้อดีอีกข้อหนึ่งที่ผมว่าสำคัญมาก ๆ คือ เป็นการนำข้อมูลที่มีความสำคัญสูงสุด มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด (Data-Driven Policy for Equity) ส่วนข้อเสียหรือข้อยุ่งยากบางประการ เช่น ต้องใช้ข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น ต้องทำ Data Analytics ดีๆ ประชาสัมพันธ์ยากกว่า ประชาชนจะสับสนง่ายกว่า เป็นต้น

        หน่วนงานสำคัญหน่วยงานหนึ่ง ที่มีความกล้าหาญและเป็นผู้นำในการนำหลักความเสมอภาคมาใช้ คือ กสศ. วัตถุประสงค์ของเขาชัดเจนว่า เน้นช่วยเฉพาะเด็กยากจนเท่านั้น มีวิธีการคัดกรองว่าเด็กคนไหนจน คนไหนไม่จน โดยการเข้าไปดูถึงก้นครัว ห้องนอน เลยทีเดียว ฉะนั้น ปัญหา Inclusive error (เด็กจนไม่จริง) จึงไม่มี และตั้งเป้าขยายผลไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุด Exclusive error (เด็กจนตกหล่น) จะค่อย ๆ ลดลงเอง

       ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่าหากเราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ไม่เน้นการอัดเงินเพื่อให้เศรษฐกิจโตเยอะ ๆ เราควรใช้ หลักความเสมอภาค มากกว่าหลักความเท่าเทียม

       โดยการแบ่งแยกกลุ่มเป้าหมายออกเป็นคลัสเตอร์ (Clustering Data) วิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำไปออกแบบนโยบายที่เหมาะสม หรือ Tailor-made Policy คล้ายๆ การผสมผสานระหว่าง Negative Income Tax ที่กระทรวงการคลังเคยเสนอไปหลายปีก่อนหน้านี้

       บวกกับ Conditional Cash Transfer ที่ต้องมีเงื่อนไขให้ทำเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็น บวกกับ Minimum Income Standard ที่ TDRI เคยเคยจุดประกายขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน ผมว่าแนวนี้น่าจะเวิร์กครับ.