ช้างไทยกลับสุรินทร์ ช้างจีนกลับปันนา
ต้นเดือนเม.ย.2564 ช้างไทย 5 เชือก ออกเดินทางจากพัทยา เพื่อกลับถิ่นฐานที่สุรินทร์ เป็นการเดินระยะไกล 500 กิโลเมตร
สาเหตุก็เพราะควานช้างไม่มีรายได้เพียงพอ ที่จะซื้ออาหารเลี้ยงช้างอีกต่อไป โควิดทำให้นักท่องเที่ยวหายหมด เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงต้องพาช้างกลับบ้าน และเมื่อไม่มีเงินที่จะขนส่งช้าง ก็เหลือวิธีเดียวคือ ต้องเดินกลับบ้าน ทั้งช้างทั้งคน
ระหว่างทาง คนไทยที่มีน้ำใจ ก็เอาอาหารมาเลี้ยงช้างและควานช้าง จนควานช้างหญิงประกาศขอบคุณ ซาบซึ้งน้ำใจคนไทยที่ไม่ทิ้งกัน ป่านนี้ทั้งช้างและควานช้าง คงอยู่บ้านกันอย่างมีความสุขแล้วครับ
วันนี้ ผมจะพาคุณไปดูช้างจีน เพราะช้างจีนก็เดินทางไกลเหมือนกัน เริ่มเดินทางเมื่อปีกว่าๆที่ผ่านมา และเป็นการเดินทาง ที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก แถมมีคลิปออกมาเป็นไวรัลด้วย
ช้างจีนโขลงนี้ มีจำนวนมากกว่าช้างไทยที่กลับสุรินทร์ เพราะเมื่อปีที่แล้ว ช้างจีน 17 เชือก ทั้งช้างพลาย ช้างพัง อยู่ดีๆก็เดินออกจากป่าสงวน ใกล้ชายแดนพม่าและลาวใน มณฑลสิบสองปันนา ทางทิศใต้ของจีน
ช้างโขลงใหญ่นี้ เดินตามกันไปเรื่อยๆ มุ่งไปทางทิศเหนือ เข้าสู่ส่วนกลางของแผ่นดินจีน โดยไม่มีใครรู้ว่าช้างเดินออกไป เพราะเหตุใด และจะไปที่ไหนกัน
หลังจากนั้น ช้างโขลงนี้ก็กลายเป็นที่สนใจ ทั้งของคนจีนและคนทั่วโลก เพราะช้างเดินขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ นานแรมเดือน เดินตรงทิศบ้าง เป๋ไปเป๋มาบ้าง เพราะช้างไม่มีควานช้างนำทาง เหมือนช้างไทยเดินกลับสุรินทร์
กว่าจะไปได้แต่ละกิโลเมตร ก็นานโขอยู่ แต่ที่ไหนได้ วันเวลาผ่านไปหลายเดือน น้องช้างเดินห่างจากบ้านเดิม มากถึง 100 กิโลเมตร แล้วก็ 200 กิโลเมตร 300 กิโลเมตร...ไปเรื่อยๆ และยังไม่ยอมหยุดเดินสักที!
ระหว่างเดินทางไกล ช้างจีนก็มีเรื่องชวนติดตามมากมายครับ เดินผ่านป่าเขา แม่น้ำ สะพาน ชุมชน เมือง ฯลฯ บางทีก็ไปนอนแช่ในแม่น้ำ ไปกินอาหารของชาวบ้าน บางทีก็มีอาการมึนเมา บางทีไปเดินข้ามถนนในเมืองใหญ่ แต่ที่แน่ๆคือ เดินขึ้นเหนือไปเรื่อยๆครับ
สื่อบางฉบับพาดหัวว่า ช้างเหล่านี้ “หลงทาง เมา และ หิว” ( Lost, Drunk, and Hungry) ที่ว่า เมา ก็เพราะช้างไปใกล้ๆโรงงานทำเหล้า ไปกินผลไม้ที่โรงงานหมักไว้ เพราะมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผลไม้ที่ช้างเคยกิน ช้างก็เลยเมา จากนั้นก็คงอารมณ์ดี และมีความสุข (…ตรงท้ายนี้ ผมว่าเองนะครับ)
เจ้าหน้าที่และประชาชน ที่อยู่ในชุมชนที่ช้างเดินผ่าน ต้องคอยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้ช้าง รวมทั้งต้องดูแลความปลอดภัยของคนและทรัพย์สินด้วย โดย
ต้องใช้แนวป้องกันหลายอย่าง เช่นเอารถบรรทุกขนาดใหญ่ มาขวางเส้นทางเข้าชุมชน เดินสายไฟฟ้าตามแนวแม่น้ำ ใช้เหยื่อล่อให้ช้างเปลี่ยนทิศทาง ฯลฯ
แต่ขนาดนั้น ก็ยังมีรายงานว่า ช้างได้เหยียบย่ำไร่นาและทำลายทรัพย์สินต่างๆไปแล้ว มากกว่า 40 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ใช้โดรน ถ่ายภาพมุมสูง เพื่อเก็บพฤติกรรมไว้เป็นระยะๆ ได้ภาพที่น่ารักมากภาพหนึ่งคือ ช้างตัวใหญ่และเล็ก (มีลูกช้างรวมอยู่ด้วย) 14 ตัว นอนเรียงแถวกันในท่าทางน่าเอ็นดู หลับสนิทบนพื้นหญ้าในป่าใหญ่
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ปกติ ลูกช้าง ก็นอนแบบนี้แหละ แต่ ช้างใหญ่ จะนอนอิงต้นไม้ เพราะถ้ามีภัยมา จะลุกได้ทัน ถ้าหากนอนแผ่กับพื้น และน้ำหนักตัวมากขนาดนี้ จะลุกขึ้นไม่ทัน แต่วันนั้นช้างนอนหลับแผ่ราบทุกตัว คงเหนื่อยจนหมดสภาพจริงๆ
ผ่านไป 15 เดือน ถึงเดือนมิถุนายน 2564 มีรายงานว่า ช้างเดินไป 500 กิโลเมตร จนเข้าใกล้ คุนหมิง จากนั้นก็ดูเหมือนว่า จะเริ่มเดินย้อนกลับ ทางทิศใต้ คราวนี้ทุกฝ่ายลุ้นกันใหญ่ ลุ้นให้ช้างเดินกลับบ้านเสียที
แต่ระยะทางกลับบ้านก็อีกยาวไกล ช้างไม่มีกูเกิ้ล และการ “มีหู มีตา หางยาว” เพียงแค่นั้นมันไม่พอ คนก็เลยต้องช่วยกันวางอาหารล่อ คอยกั้นไม่ให้เดินออกนอกเส้นทางฯลฯ คือพยายามช่วยเป็น กูเกิ้ลแมพ ให้น้องกลับถึงบ้านโดยเร็วแหละครับ
USA Today รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ต่างจากแหล่งข่าวอื่นๆว่า ช้างเดินทางรวมแล้วเป็นระยะทางกว่า 800 ไมล์ หรือ 1,300 กิโลเมตร บางฉบับบอกว่าขณะนี้ เหลือระยะทาง 200 กิโล ช้างก็จะถึงบ้านแล้ว
ช้างโขลงนี้ ตอนเริ่มต้นเดินทาง รายงานว่ามีทั้งหมด 16-17 เชือก มีช้างพลาย คือ ช้างตัวผู้ ร่วมอยู่ด้วย 3 เชือก แต่เมื่อออกเดินทางไปได้ 1 เดือน ช้างพลาย 2 เชือก ก็เดินออกจากกลุ่มไปเฉยๆ...
จะเป็นเพราะเหตุใด ก็ไม่มีใครทราบ (คงต้องไปสัมภาษณ์ช้างพลายดูนะครับ) หลังจากนั้นอีกไม่นาน พลายอีก 1 เชือกก็แยกตัวเช่นกัน การเดินทางไกล ไป-กลับ นับพันกิโลเมตรครั้งนี้ จึงนำทางโดย “ช้างพัง” หรือช้างตัวเมีย ที่เป็นหัวหน้าโขลงตัวจริงเลยครับ
ผมเชื่อว่าในวันที่ช้างเดินกลับถึงบ้านเกิด จะมีการติดตามทำข่าว โดยสำนักข่าวจากทั่วโลก วันนั้น ถ้าสื่อไทยจะไปสัมภาษณ์ ช้างพัง ที่เป็นหัวหน้า ก็เชิญเลยนะครับ
ที่เล่าเรื่องช้างมาทั้งหมดนี้ คงพอสรุปได้ว่า ใครที่พูดว่าสตรีคือช้างเท้าหลัง ผมขอยืนยันว่า ไม่จริ๊งไม่จริง...!
เพราะ “ช้างพัง” ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นช้างเท้าหน้า ตลอดการเดินทางครั้งนี้ครับ