3 เหตุผล ‘Xiaomi’ ผงาดเบอร์ 2 สมาร์ทโฟนโลก
ปรับโมเดลธุรกิจจากผู้ท้าทายตลาด มาเป็นมุ่งสู่ผู้นำตลาด
ปรากฏการณ์ "เสียวหมี่ (Xiaomi)" กับการครองแชมป์สมาร์ทโฟนประเทศจีนและก้าวขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลกนับว่าน่าจับตามองอย่างมาก
รายงานจากบริษัทวิจัยตลาดชั้นนำหลายรายระบุตรงกันว่า เวลานี้ส่วนแบ่งการตลาดของสมาร์ทโฟนทั่วโลกประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 เสียวหมี่ ได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของบริษัทจากจีนด้วย
ข้อมูลระบุว่า เสียวหมี่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดสมาร์ทโฟนกว่า 17% ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 83% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเสียวหมี่ถึงสามารถประสบความสำเร็จได้เช่นนี้ ในส่วนนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นเพราะกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าจับตามองของบริษัทสัญชาติจีนที่น่าสนใจ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
การรีแบรนด์ : หนึ่งในความสำเร็จอย่างยิ่งของเสียวหมี่ คือการรีแบรนด์ที่ได้ทำมาในหลายปีนี้ โดยเฉพาะการปรับภาพลักษณ์ทั้งสินค้า คุณภาพ การดีไซน์ และอื่นๆ ให้มีความเป็นสากลในระดับโลกมากขึ้น โดยแนวทางนี้พวกเขาเลือกศึกษาจากบริษัทต่างชาติเช่นแอ๊ปเปิ้ล เป็นแม่แบบสำคัญ
นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญมีการปรับโมเดลทางด้านธุรกิจของบริษัทที่เปลี่ยนจากผู้ท้าทายตลาด มาเป็นการมุ่งสู่ผู้นำตลาด ซึ่งทำให้ทิศทางด้านนโยบายหลักของบริษัทเปลี่ยนไป เน้นที่การพัฒนานวัตกรรมและอื่นๆ มากขึ้น
การพัฒนานวัตกรรม : ถือว่าเป็นจุดสำคัญในด้านการลงทุนและพัฒนาของบริษัท หลังจากได้เริ่มวางจำหน่ายมือถือสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมรุ่นแรก คือ ตระกูล Mi 10 เป็นต้นมา
ทางบริษัทเลือกลงทุนในด้านของสินค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอ กล้อง ระบบชาร์จไฟ และการทำงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบอัจฉริยะ รวมถึงการมุ่งสู่อุตสาหกรรมนี้ยังเต็มตัว
สำหรับในจีนเอง ยังเป็นรายแรกๆ ที่เริ่มนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่เน้นความละเอียด 108 ล้านพิกเซล เช่นเดียวกับการใช้งานแบตเตอรี่แบบซิลิคอนออกไซด์ การใช้เคลือบเซรามิกในสมาร์ทโฟนเป็นรายแรก รวมไปถึงในอีกหลายส่วนๆ ที่ทำให้ชื่อเสียงของบริษัทถูกพูดถึงและได้รับความน่าสนใจเพิ่มขึ้นมากทั้งในจีนและต่างประเทศ
อีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญ นั่นคือเรื่องนวัตกรรมการผลิต เมื่อพวกเขาเริ่มหันมาใช้งานโรงงานอัจฉริยะ โดยให้ความสำคัญกับสายการผลิตต่างๆ ในโรงงานให้ทำงานโดยอัตโนมัติ มีศักยภาพที่สามารถผลิตสมาร์ทโฟนแบบพรีเมียม 1 ล้านเครื่องต่อปี รวมถึงการพัฒนาห้องแล็ปต่างๆ
การรับบุคลากร : เสียวหมี่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการรับบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากในปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ขยายขอบเขตของการสรรหาบุคลากรไปอย่างมาก และในปีนี้ก็ยังดำเนินการเช่นนั้น โดยเฉพาะด้านวิศวกร และบุคลากรด้านนวัตกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าของพวกเขา
หากย้อนไปเมื่อไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 จะพบว่าพวกเขาสามารถทำส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยมียอดการส่งมอบสมาร์ทโฟนมากกว่า 43.4 ล้านเครื่องเลยทีเดียว
จากภาพรวมของการยกระดับในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เสียวหมี่ยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีนและทั่วโลก ซึ่งก็น่าจับตามองว่าในสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงของสมรภูมิสมาร์ทโฟนหลังจากนี้พวกเขาจะเดินหน้าไปอย่างไรต่ออีก