FDI 'เอเชีย' มีเสถียรภาพ แม้วิกฤตโควิดยืดเยื้อ
การไหลของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) หนักกว่าเมื่อครั้งวิกฤติการเงินทั่วโลกในปี 52
ในรายงาน World Investment Report 2021 ของอังค์ถัด ระบุว่า เงินลงทุนด้านนี้ ลดลงหนึ่งในสาม จาก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2562 มาอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบพบว่า ในปี 2563 มีมูลค่าต่ำกว่าปี 2552 อยู่ถึง 20% เนื่องจากมาตรการปิดเมืองและการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลให้บริษัทจำนวนมากทั่วโลกปรับแผนการลงทุนของตนเองใหม่
เม็ดเงิน FDI ทั่วเอเชีย มีแนวโน้มที่ดี
แม้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด ทวีปเอเชียยังคงเป็นตลาดเป้าหมายที่ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
รายงานของ UNCTAD แสดงให้เห็นว่าการไหลของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่เอเชียในปี 2563 เพิ่มขึ้น 4% อยู่ที่ 5.35 แสนล้านดอลลาร์ นำโดยการไหลของการลงทุนสู่ประเทศจีน ซึ่งแตะระดับ 1.49 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 1.41 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2562 และคาดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเอเชียจะคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรา 5% ถึง 10% ในปี 2564 เมื่อเปรียบปีก่อนหน้า
หากดูในระดับอาเซียน มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าของภูมิภาคค่อนข้างซบเซาในปี 2563 และลดลงในประเทศผู้รับการลงทุนอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ลดลง 21% อินโดนีเซีย 22% และเวียดนาม 2%
ในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลงจาก 3 พันล้านดอลลาร์เมื่อปี 2562 มาติดลบ 6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 จากการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นจากต่างชาติเป็นบริษัทไทย ในมาเลเซีย มูลค่า FDI ก็ลดลง 55% อยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเมียนมาลดลง 34% มาอยู่ที่ 1.8 พันล้านดอลลาร์
การลงทุนโครงสร้างด้านพลังงาน เพิ่มขึ้น
ในปี 2563 โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานทั่วโลกหดตัวลดลง 40% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 8 ปี แต่ทวีปเอเชียกลับเป็นภูมิภาคเดียวที่มีการเติบโตของโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานทั้งในแง่จำนวนและมูลค่า
แม้การใช้จ่ายทั่วโลกจะมีแนวโน้มลดลง แต่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในโครงการพลังงานหมุนเวียนยังคงเพิ่มขึ้น จาก 3.07 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในแหล่งพลังงานหมุนเวียนของอาเซียนจะยังคงเติบโตยิ่งขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากอาเซียนมุ่งมั่นทบทวนและปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้พลังงานในภูมิภาค เช่น บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทย กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
บริษัทจากชาติสมาชิกอาเซียน ทุ่มลงทุนในภูมิภาค
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ไหลเวียนอยู่ในภูมิภาคนี้ เนื่องจากศักยภาพการเติบโตในระยะยาวที่น่าดึงดูดของภูมิภาคเอง ปีที่แล้ว FDI ภายในภูมิภาคอาเซียนเติบโตขึ้น 5.4% คิดเป็นมูลค่า 2.33 หมื่นล้านดอลลาร์
สิงคโปร์และไทยครองอันดับสองประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในอาเซียนในปี 2563 หากดูโดยรวมแล้ว บริษัทจากสิงคโปร์ลงทุนถึง 25% ของมูลค่า FDI ในอินโดนีเซียและ 40% ของมูลค่า FDI ในเวียดนาม
FDI outflows ของไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์ในปี 2563 เกือบ 85% ของมูลค่าการลงทุนดังกล่าวไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมภายในภูมิภาคอาเซียน เช่น ธุรกิจบริการทางการเงิน ธุรกิจ retail และ wholesale การผลิต อสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง
แม้ว่าภาพรวมแนวโน้มของภูมิภาคอาเซียนจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคระบาดและโควิดสายพันธุ์ใหม่ของแต่ละประเทศ แต่การลงทุนภายในภูมิภาคจะช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กระชับมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตในระยะยาว ให้กลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้
หน่วยงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Advisory Unit) ของธนาคารยูโอบี ให้บริการแก่ธุรกิจที่สนใจลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบบครบวงจร โดยผู้ประกอบการจะได้รับคำแนะนำด้านกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาด วิธีการดำเนินการตามธรรมเนียมปฏิบัติและกฎหมายท้องถิ่น นอกจากนี้ หน่วยงานนี้ยังช่วยสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการกับพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจที่จำเป็นตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ เช่น หน่วยงานรัฐ สมาคมการค้า และผู้ให้บริการทางวิชาชีพต่างๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น แทนที่จะเสียเวลาและทรัพยากรอันมีค่าไปกับการค้นหาพันธมิตรด้วยตนเอง
ติดตามอ่านบทความอินไซต์ธุรกิจในอาเซียนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.uobgroup.com/uobgroup/index.page