วันชาติไทย กำลังเลือนหายไป
"ชังชาติ” เป็นคำกระแสนิยมในช่วงหลังๆ ทำไม “คนไทย” บางคนจึง “ชังชาติ” หรือทำไมคนไทยบางส่วน “จึงไม่รักชาติ”
บทความโดย ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม
“ชาติ” คืออะไร?
“ประเทศ” คืออะไร?
“ชาติ” หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันทางสายโลหิต เผ่าพันธุ์ ภาษา ศาสนา ตลอดจนมีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน หรือมีวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองร่วมกัน
“ประเทศ” หมายถึง ดินแดนที่มีฐานะเป็นรัฐ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง ดินแดน อาณาเขต และสภาพภูมิศาสตร์ เป็นต้นว่า ความอุดมสมบูรณ์ ดินฟ้าอากาศ แม่น้ำภูเขา ทะเล ป่าไม้ ฯลฯ โดยสรุป “ชาติ” เกี่ยวกับ เผ่าพันธุ์ และวัฒนธรรม แต่ “ประเทศ” เกี่ยวกับ ดินแดน และภูมิศาสตร์
คนจะรัก “ชาติ” ของตนเองนั้น จะต้องมีความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และประวัติศาสตร์ของชาติที่ผ่านมา
คนจะรัก “ประเทศ” จะต้องพึงพอใจในความเป็นอยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ สวยงาม มีกฎหมายบ้านเมืองที่เป็นธรรมและเอื้อให้มีความเป็นอยู่ที่ดี
แล้วคน “ชังชาติ” ไม่ชอบอะไรของ “ชาติไทย” หรือ “คนไทย” ด้วยกัน มีอะไรที่เลวร้าย ?
มลภาวะ หรือ? เดี๋ยวนี้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมไทยโดยรวมในประเทศไทยดีขึ้นเรื่อยๆ
สิทธิเสรีภาพ หรือ? ช่วงหลังๆ ก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันทุกเพศทุกวัย
ในด้านประวัติศาสตร์ เราก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก เหมือนที่ประเทศเพื่อนบ้านเป็น ซึ่งคนไทยควรจะภาคภูมิใจ
คนไทยมีไมตรีจิต มีน้ำใจ ใจดี อ่อนน้อมถ่อมตน มียิ้มสยาม อันเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย เป็นที่ชื่นชมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ประเทศไทยมีสถานะการเงินที่เข้มแข็ง และมีภาคเอกชนที่มีศักยภาพแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
ฯลฯ
คนไทยหลายคนที่ทำงานและอาศัยอยู่ต่างประเทศ เพราะมีโอกาสที่ดีกว่า และรายได้ที่ดีกว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ “ชังชาติ” แต่เป็นเพราะเหตุผลความจำเป็นของงาน
ผมจึงคิดว่า คนไทยที่ “ชังชาติ” ไม่น่ามี แต่ “คนที่ไม่รักชาติเท่าที่ควร” ยังคงมีจำนวนมาก
สืบเนื่องจากกระแสนิยมช่วงหลังๆ ที่นิยมใช้คำว่า “ชังชาติ” ผมจึงได้ทดลองถามคนหนุ่มสาวอายุ 20-30 ปี หลายๆ กลุ่ม ปรากฏว่ามีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้น ที่ตอบได้ว่า “วันชาติไทย” คือ วันที่ “5 ธันวาคม” ของทุกปี
คนที่ไม่รู้ว่า “วันชาติไทย” คือวันอะไร ก็ไม่ใช่คน “ชังชาติ” แต่จัดว่าเป็นคน “ไม่รักชาติมากเท่าที่ควร”
ถ้ามีคนไทยที่ไม่ค่อยรักชาติมากนักอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร และเราจะแข่งขันกับประเทศชาติอื่นๆ ได้หรือ?
ถ้า “ธงชาติ” คือสัญลักษณ์แทน “ชาติ”
“ธงไตรรงค์” หรือ “ธงชาติไทย” ประกอบด้วย 3 ส่วน ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญ โดยแบ่งพื้นที่บนผืนธงเท่าๆ กัน คือ “สีแดง” แทน “ชาติ” “สีขาว” แทน “ศาสนา” “สีน้ำเงิน” แทน “พระมหากษัตริย์”
“การเคารพธงชาติ” ด้วยการยืนตรงและร่วมร้องเพลงชาติทุกเช้าเย็น เป็นพื้นฐานที่ปฏิบัติกันในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมให้คนในชาติ รักและสามัคคีกัน
การปลูกฝังและส่งเสริมให้ “คนไทย” “รักชาติ” “รักประเทศ” นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ และร่วมกันสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า ทั้งวิทยาการและศิลปวัตนธรรมที่มีเอกลักษณ์ เพื่อหล่อหลอมจิตใจคนในชาติให้ชื่นชมและภาคภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นเจ้าของร่วมกัน
“วันชาติ” จึงเป็นวันสำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำหนดขึ้น เพื่อเป็น “วาระแห่งชาติ” ประจำปี เพื่อให้คนในชาติตระหนักถึงความสำคัญของ “ชาติ” และถือโอกาสจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดความเป็น “ชาตินิยม”
ล่าสุด เรามีวันหยุดราชการประจำปีตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 17 วัน ซึ่งแบ่งแยกตามหมวดหมู่ต่างๆ ได้ดังนี้ คือ:-
- หมวดเทศกาลปีใหม่ (สากล) และสงกรานต์ (ปีใหม่ไทย) = 2+3 = รวม 5 วัน
- หมวดศาสนา : มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา รวม 4 วัน
- หมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ = จักรี, ฉัตรมงคล, เฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี, เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, เฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (วันแม่แห่งชาติ), วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ปิยมหาราช, พระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (+วันชาติ + วันพ่อแห่งชาติ) รวม 8 วัน
- วันสำคัญอื่นๆ ได้แก่ วันพืชมงคล (วันหยุดเฉพาะราชการ) และวันรัฐธรรมนูญ รวม 2 วัน
ทั้งนี้ ยังมีวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภาคเอกชนไปพิจารณาหยุดตามความเหมาะสม
จะเห็นได้ว่า “วันชาติ” ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ร่วมกับวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ รวม 3 วัตถุประสงค์ในวันเดียวกัน
อนึ่ง การจัดกิจกรรมต่างๆ ของทางราชการที่ผ่านมา มักเน้นไปที่วันเฉลิมพระชนมพรรษา (พระราชสมภพฯ) และวันพ่อเป็นหลัก การจัดกิจกรรมเพื่อให้ความสำคัญของ “ชาติไทย” และส่งเสริมคนไทยให้รักชาติ จึงมีน้อยมาก จนทำให้คนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ค่อยๆ ลืมเลือนว่าเป็น “วันชาติไทย” ในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกๆ ปีด้วย
ผมอ่านพบความเห็นใน PANTIP.COM ที่บางคนเสนอให้ย้ายวัน “วันชาติ” ไปรวมกับ “วันรัฐธรรมนูญ” บ้าง หรือ “วันสงกรานต์” บ้าง ผมมีความเห็นว่า “วันรัฐธรรมนูญ” ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้แก่ประชาชนชาวไทย ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งก็น่าสนใจ เพราะเป็นวันเริ่มต้นแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราจึงน่าจะย้าย “วันชาติ” ไปเป็นวันที่ 10 ธันวาคม และเปลี่ยนชื่อเรียก เป็น “วันชาติ” แทน “วันรัฐธรรมนูญ” ไปเลย
อนึ่ง ถ้าเรายื่นขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เรียกวันที่ 12 สิงหาคม เป็น “วันแม่แห่งชาติ” และ “5 ธันวาคม” เป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ก็น่าจะดี จะทำให้วันหยุดหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ เหลือ 6 วัน และวันสำคัญต่างๆ จะเพิ่มจาก 2 วัน เป็น 4 วัน ซึ่งได้แก่ วันพืชมงคล วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ
“วันชาติ” ควรเป็นวันที่เราจะใช้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมปลูกจิตสำนึกให้รักแผ่นดินเกิด ให้คนไทยรักชาติ และรักประเทศมากยิ่งขึ้น หรือให้เกิด “พลังชาตินิยม” โดยผ่านกิจกรรมต่อไปนี้:-
- การสวนสนามของเหล่าทัพต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเข้มแข็ง ความมีระเบียบวินัยของกองทัพ และความพร้อมเพรียงของการป้องกันประเทศ
- การแสดงผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา และแผนงานที่จะทำต่อไป ทั้งระยะสั้น, ระยะยาว
- การแสดงศิลปวัฒนธรรมของไทยครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี ที่รวบรวมสุดยอดของทุกภาคหลากหลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
- การประกวดสุนทรพจน์ บทความ บทกวี ส่งเสริมให้รักชาติ
- การยกย่องเชิดชู “คนไทยดีเด่น” ประจำปี ในด้านต่างๆ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเสียสละ การสร้างสรรค์สังคม
- การมอบรางวันนวัตกรรมดีเด่นในด้านต่างๆ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ และศิลปกรรมแขนงต่างๆ
- การแข่งขันกีฬาไทยในทุกภูมิภาค อาทิ มวยไทย ตะกร้อ แข่งเรือ ฯลฯ รวมทั้งการแข่งขันวิ่งมาราธอน และแข่งขันจักรยาน ที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้ชื่นชมกับภูมิประเทศในวงกว้าง
ฯลฯ
สิ่งที่เขียนมาทั้งหมดข้างต้น เพียงเพื่อต้องการให้รัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานราชการต่างๆ ภาคเอกชน และคนไทยทุกคนทั่วประเทศ ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของความเป็นคนไทยทุกคนที่ต้อง “รักชาติ” และต้องร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ “รักชาติ” ให้คนไทยรำลึกถึงบรรพชนไทย กองทัพที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติบ้านเมือง ให้ไทยคงความเป็นเอกราชตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ส่งเสริมให้รู้คุณค่าในความวิจิตรงดงามของศิลปวัฒนธรรมของไทยในด้านต่างๆ และหล่อหลอมความสามัคคีในหมู่คนไทยให้รักชาติ รักประเทศบ้านเกิดเมืองนอน และแผ่นดินที่อาศัย เพื่อจะได้เป็นพลังชาตินิยมร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศชาติไทย อันเป็นที่รักของคนไทยทุกคนให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป.