โควิด-19 ชี้ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (3)
บทคัดย่อหนังสือ Covid-19: The Great Reset วันนี้มาจากเนื้อหาส่วนที่ 3-4 บทที่ 1 พูดถึงผลกระทบของโควิด-19และข้อคิดด้านสังคมและภูมิการเมือง
โควิด-19มีผลกระทบสาหัสต่อด้านสังคมและทำให้สภาพที่แท้จริงในสังคมต่าง ปรากฏออกมาชัดเจนขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล การประกันสังคม การบริหารจัดการของรัฐบาล ความเหลื่อมล้ำ ความฉ้อฉลของคนในภาครัฐและศรัทธาในสัญญาสังคม สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ปฏิกิริยาตอบสนองของสมาชิกในสังคม การตอบสนองนั้นออกมาในรูปไหนและรัฐตั้งรับอย่างไรจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปอีก ผลจะออกมาแบบไหนคาดเดาได้ยาก
ก่อนการระบาดของโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งรุนแรงในสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น วิกฤติจากโควิด-19เป็นเสมือนเชื้อไฟที่ถูกโยนเข้าไปในกองเพลิง ฉะนั้น เป็นไปได้สูงว่าประชาชนจะออกมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมด้วยการใช้ความรุนแรงมากขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลและความมั่นใจในสัญญาสังคมระหว่างภาครัฐกับประชาชน ความเสื่อมศรัทธาและความขัดแย้งรุนแรงอาจสูงมากจนนำไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลวในบางประเทศหากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนโดยทั่วไปพอใจได้โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมักมีปัญหาเรื่องความฉ้อฉลของคนในภาครัฐ
ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าโรคระบาดเอื้อให้ภาครัฐรวบอำนาจได้ง่ายขึ้น นั่นหมายความว่าแนวคิดที่สหรัฐและอังกฤษพยายามทำมาหลายทศวรรษอาจถูกบังคับให้หมุนกลับหลัง กล่าวคือ ลดการใช้ระบบตลาดเสรีที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนซึ่งมีผลกำไรเป็นตัวขับเคลื่อนเป็นฐานของการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ รวมทั้งปัจจัยพื้นฐานและการรักษาพยาบาล แต่เมื่อรัฐกลับไปทำสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นย่อมเสี่ยงต่อการนำไปสู่การผูกขาดและการใช้อำนาจเผด็จการซึ่งมักมีข้อเสียมากจากการขาดประสิทธิภาพและความฉ้อฉล
สำหรับทางด้านภูมิการเมืองซึ่งเน้นหนักไปทางเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โควิด-19ระบาดท่ามกลางแนวโน้มที่บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของความขัดแย้งระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้กับไวรัสซึ่งระบาดข้ามพรมแดนได้แบบไม่เลือกจึงยากลำมากมากขึ้นกว่าที่น่าจะทำได้ ภาวะนี้ทำให้ 4 ประเด็นเด่นชัดยิ่งขึ้น ได้แก่
- การเดินสวนกันระหว่างกระบวนโลกาภิวัตน์กับกระแสชาตินิยม เมื่อเทคโนโลยีใหม่เอื้อให้โลกเชื่อมต่อกันได้แบบแทบไร้พรมแดน ความสะดวกในการสื่อสารและการค้าเอื้อให้โลกพัฒนาได้อย่างรวดเร็วพร้อมกับสร้างความคาดหวังว่าการพัฒนาต่อไปจะทำได้อย่างราบรื่นขึ้นอีก แต่กระบวนการนี้ถูกต่อต้านจากกระแสชาตินิยม โควิด-19ช่วยเสริมจุดยืนของกระแสนี้ให้แข็งแกร่งขึ้น การขัดแย้งกันของ 2 ฝ่ายคงจะนำไปสู่การจับกลุ่มกันของประเทศในแต่ละภูมิภาคตามแนวของสหภาพยุโรปและอาเซียน
- ระบบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังอ่อนแอลงเพราะกระแสชาตินิยมที่เข้มข้นขึ้น โควิด-19ทำให้ความอ่อนแอนี้เด่นชัดขึ้นอีกเนื่องจากแทนที่จะร่วมมือกันต่อต้านการระบาดของมัน ชาติต่าง ๆ กลับหันหลังให้กันมากขึ้น ความอ่อนแอนี้บ่งชี้ว่าปัญหาที่โลกจะต้องร่วมมือกันแก้จึงจะสำเร็จจะแก้ยากมากขึ้น เช่น ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและการก่อการร้ายข้ามชาติ
- การช่วงชิงความเป็นใหญ่ระหว่างสหรัฐกับจีนเริ่มเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดมาชั่วระยะหนึ่งแล้ว โควิด-19กระตุ้นให้มันยิ่งเข้มข้นจนกลายเป็นสงครามเย็นเต็มรูปแบบ ผู้เชี่ยวชาญเห็นไม่ตรงกันเรื่องใครผิดใครถูก ใครได้เปรียบจากการระบาดของโควิด-19และใครจะชนะในที่สุด ส่วนผู้เขียนหนังสือมองว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ในสงครามเย็นครั้งนี้ มันอาจจะจบลงด้วยสันติวิธี หรือด้วยสงครามร้อนก็ได้
- ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา จำนวนมากมีความเปราะบางอยู่แล้วจากปัจจัยต่าง ๆ รวมทั้งความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความฉ้อฉล และความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก ปัญหากำลังถูกซ้ำเติมอย่างหนักจากโควิด-19 การลดลงของการค้าขาย การท่องเที่ยวและเงินที่ส่งจากประชาชนผู้ออกไปทำงานในต่างประเทศกำลังทำเศรษฐกิจให้ถดถอยอย่างหนักจนเกิดความอดอยากมากขึ้น ภาวะนี้มีโอกาสนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงอย่างกว้างขวางสูงจนส่งผลให้ประเทศปกครองไม่ได้กลายเป็นรัฐล้มเหลวและประชาชนดิ้นรนออกนอกประเทศเพิ่มขึ้น